เค้าโครง “การเล่าเรื่อง” การเมืองไทยในสมัยปัจจุบัน

สังคมการเมืองไทยขณะนี้กำลังอยู่ในภาวะอะไรกันแน่?

ถ้าให้คุณอธิบายหรือ เล่าเรื่อง ความขัดแย้งทางการเมืองในขณะนี้ให้ใครซักคนหนึ่งฟัง คุณจะ เล่า เรื่องนี้ในลักษณะอย่างไร? ที่สำคัญ คือ พล็อตหรือเค้าโครงการเล่าเรื่องที่ใช้นั้น คุณคิดว่ามันจะพาเราและสังคมการเมืองไทยไปทางไหน? ไปได้ไกลแค่ไหน?

…หรือไม่ได้ไปไหนเลย

โดยปกติ ผมเห็นว่าแนวการอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆทางการเมืองแบบวิเคราะห์เชิง เกมส์อำนาจ ของผู้นำ หรือการชิงไหวชิงพริบแต่ละฝ่าย พร้อมด้วยผู้หนุนหลัง และตัวละครอื่นๆอีกมากมาย นั้น มีประโยชน์ในหลายสถาน เพราะแม้จะดูเป็นด้านมืดสักหน่อย แต่มันเป็นตัวขับเคลื่อนการเมืองในโลกจริง

แต่ขณะนี้ ดูเหมือนว่าเราจะเอ่อท้นไปด้วยแนวการวิเคราะห์เช่นนี้มากเกินไป จนไม่สามารถมองเห็นโลกในด้านอื่นๆได้มากนัก ทั้งที่ความเป็นจริงทางสังคมการเมือง มักมีด้านอื่นๆอีกมากมายมหาศาลเสมอๆ

พูดอีกอย่าง คือ เรากำลังตั้งโจทย์อะไรต่อความขัดแย้งในการเมืองไทยปัจจุับัน คำถามแบบไหนที่เราตั้งขึ้น คำถามเหล่านี้พาเราไปสู่คำตอบแบบไหน คำตอบนั้นดูดีมีอนาคตสดใสเพียงใด หรือมีแต่พาให้เราหดหู่ เศร้าหมอง รู้สึกไม่สามารถทำอะไรได้มากมายนัก

ที่สำคัญ คือ เราสามารถตั้งโจทย์แบบอื่นๆต่อการเมืองไทยปัจจุบันได้หรือไม่? มีแนวการเล่าเรื่องแบบอื่นๆอีกได้หรือไม่? ที่ทำให้เราสามารถเห็นโลก (การเมืองไทย) ได้รุ่มรวยกว่าที่เป็นอยู่ อีกทั้งยังชวนให้เราสามารถทำอะไรกับสถานการณ์ได้บ้าง

ผมเห็นว่าหลายปีมานี้ การเมืองไทยถูกขับดันไปจนสุดขอบความรู้เท่าที่เราพอจะมีกันอยู่ และสังคมไทยก็ได้ใช้ปัญญาในการกำกับ ยับยั้ง และหาทางออกให้กับการเมืองไทยอย่างเต็มที่ แต่ดูเหมือนเรายังคงคว้าไม่เจอ โจทย์ ที่ดูจะมี พลังในการอธิบาย ได้อย่างน่าพึงพอใจมากนัก

ผมเห็นด้วยกับอาจารย์ัรัฐศาสตร์ที่ออกมาอธิบายว่าปัจจุบันเรากำลังเผชิญกับ ปัญหาในระดับพื้นฐานของระบบการเมือง ซึ่งสำหรับผมแล้ว มันคือปัญหาว่า ด้วยเรื่องคุณค่า ความหมาย และที่มาของความชอบธรรมในลักษณะต่างๆ และความสัมพันธ์ระหว่างประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งกับประชาธิิปไตยแบบมีส่วน ร่วม หรือระหว่า้่งการเมืองแบบในรัฐสภากับการเมืองนอกสภา

ที่มาของความชอบธรรมในระบบการเมืองหนึ่งๆนั้น มีได้หลากหลาย ทั้งที่มาจากการสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ สามารถแก้ปัญหาปากท้องให้ผู้คนได้ ความชอบธรรมที่ได้มาจากคะแนนเสียงในระบบประชาธิปไตยแบบเลือกตั้ง หรือความชอบธรรมจากการเข้าร่วมอย่างแข็งขันของพลเมือง ในฐานะที่รับผิดชอบโดยตรงต่อระบบการเมืองของตน อันเป็นฐานที่มาของประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม หรือแม้แต่ความชอบธรรมของการเมืองนอกสภาที่เกิดขึ้นเพราะการเมืองในสภาไม่ สามารถธำรงบรรทัดฐานความถูกต้องของสังคมไว้ได้ และยังมีที่มาของความชอบธรรมอีกมาก เช่น จากอำนาจประเพณี บารมี การใช้หรือไม่ใช้ความรุนแรง เ็ป็นต้น

โจทย์ใหญ่ของเราในขณะนี้ คือ ที่ผ่านมา เราเผชิญกับการปะทะกันของความชอบธรรมหลากหลายชนิด โดยไม่รู้ว่าควรจัดลำดับความสำคัญของความชอบธรรมแต่ละชนิดไว้ก่อนหลังอย่าง ไร และผู้ที่ยึดกุมความชอบธรรมแต่ละชนิดนั้น ควรเอื้ออาีรีต่อผู้ยึดกุมความชอบธรรมแบบอื่นๆอย่างไร

ตัวอย่างง่ายๆก็เช่น น้ำหนักเหตุผลและความชอบธรรมที่ให้ต่อความห่วงใยในภาพลักษณ์และผลประโยชน์ ทางเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศนั้น จะจัดวางความสัมพันธ์กับความไม่ชอบธรรมจากปัญหาปากท้อง ปัญหาคอร์รัปชั่น ตลอดจนปัญหาความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ของประเทศอย่างไร?

ในทางการเมืองนั้น เรากำลังอยู่ในภาวะที่การเมืองในสภาเสื่อมความชอบธรรมลงไปมาก อันเป็นผลจากความไร้ประสิทธิภาพและคอร์รัปชั่นมากมายหลายปีที่ผ่านมา ในขณะที่การเมืองภาคประชาชนหรือการเมืองนอกสภานั้น ค่อยๆเข้มแข็งมากขึ้นๆ โดยเฉพาะในช่วงหลังปีสามสี่ปีมานี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเครือข่ายสื่อเป็นเนื้อเดียวกับ หรือกระทั่งเป็นผู้นำของขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนเองด้วยซ้ำ การเมืองภาคประชาชนเข้มแข็งและขยายตัวอย่างล้มหลามจนน่าตกใจ เพราะบางครั้งดูจะล้ำเส้นไปบ้าง กลายเป็นดุดัน บางครั้งถึงขั้นก้าวร้าว ก่อให้เกิดความเกลียดชังแพร่สะพัด กระทั่งปริ่มๆว่าจะก่อให้เกิดความรุนแรงขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม นี้ก็ยังสามารถถือได้ว่าการเมืองภาคประชาชนของไทยก้าวหน้าไปมาก และที่น่าสนใจ ก็คือ เราจะสามารถ ต่อยอด ขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนในช่วงที่ผ่านมาได้อย่างไร?

ดังนั้น โจทย์ใหญ่ทางการเมืองปัจจุบัน คือ เราจะจัดลำดับความสำคัญและความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองในสภาและการเมืองนอก สภาอย่างไร? การเมืองนอกสภา ควรไปไกล (อาจรวมทั้งดุดัน) มากน้อยเพียงใด? ความชอบธรรมของการเมืองในสภาควรอยู่ในขอบเขตระดับใด? เมื่อใดที่การเมืองในสภาหมดความชอบธรรม และต้องหลีกทางให้การเืมืองนอกสภา? และ เราจะสร้างพื้นที่ให้มากขึ้นให้คนกลุ่มต่างๆสามารถใช้การเมืองนอกสภาเป็นหน ทางรักษาความถูกต้องและความเป็นธรรมของสังคม (โดยเฉพาะเมื่อการเมืองในสภาไม่สามารถทำงานได้) ได้อย่างไร?

กล่าวอีกนัยหนึ่ง เราน่าจะชวนกันตั้งโจทย์ว่า เมื่อ เกิดสภาวะที่สังคมไม่สามารถดำเนินไปตามกระบวนการทางการเมืองปกติ (ซึ่งยืนอยู่บนความสัมพันธ์ของคุณค่าและที่มาของความชอบธรรมต่างๆในลักษณะ หนึ่ง ที่อาจให้น้ำหนักกับการเมืองในสภาและเศรษฐกิจปากท้อง หรือภาพลักษณ์การลงทุนของประเทศ ก็ตามแต่) เราควรจัดลำดับความสัมพันธ์ของคุณค่าต่างๆเหล่านี้ “ใหม่” อยางไร? เช่น อาจต้องยอมให้เศรษฐกิจการลงทุนพร่องไปบ้าง บน ฐานของความเห็นใจ ว่าคนที่ออกมาเรียกร้องนั้น เขาคงมีปัญหาจริงๆ (อาจจะหลังจากพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า อยู่มานานจริง ยอมทนลำบาก ตากแดด ตากฝนจริงๆ เพราะการเมืองนอกสภานั้น ไม่ใช่เรื่องที่ใครนึกจะเคลื่อนไหว ก็ทำได้ง่ายๆ)

เหล่านี้คือโจทย์ที่ผมคิดว่าน่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการพยายาม อธิบาย หรือ เล่าเรื่อง การเมืองไทยในปัจจุบันได้อย่างรุ่มรวยหลากหลายและดูมีที่ทางให้เราได้ทำอะไรกันได้มากขึ้น กว่าแนวการเล่าเรื่องแบบที่เป็นๆกันอยู่

คนแก่ขนาดนี้ยังมาร่วม ผมไม่อาจดูถูกน้ำใจของคนที่ไปร่วมกับพันธมิตรฯได้
credit : http://www.manager.co.th

 หมายเหตุ : หลังจากเกิดเหตุการณ์พันธมิตรบุกยึดสถานที่ราชการหลายแห่ง รวมทั้งทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2551 และ รัฐบาลเองก็ดูมีท่าทีแข็งกร้าว ขู่จะใช้ความรุนแรงและจะสลายการชุมนุมอยู่ตลอดเวลา จนดูเหมือนสังคมไทยกำลังเข้าใกล้วิกฤตความรุนแรงมากขึ้นเรือ่ยๆ ผม เขียนบทความนี้ขึ้นหลังได้จากได้รับการเตือนสติเกี่ยวกับวิธีการมองปัญหาและ จุดประกายประเด็นที่ควรคิดจาก ปกรณ์ เลิศเสถียรชัย เพื่อนรุ่นน้องคนสนิท เพื่อเป็นฐานในการร่วมคิดกันต่อไปว่าเราสามารถทำอะไรในเหตุการณ์วิกฤตทางการ เมืองไทยปัจจุบันได้บ้าง ความดีอันใดหากเกิดขึ้นจากบทความนี้ ขอยกให้ปกรณ์ ความผิดอันใดที่อาจเกิดขึ้น ผมขอรับไว้เอง

เผยแพร่ในเว็บประชาไท เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2551

11 comments

  1. ตามสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้แล้ว บ่อยครั้งรู้สึกขับข้องใจ สิ้นหวัง เพราะไม่ว่าจะฝ่ายใดก็ตามพยายามแต่ที่จะใช้กลเกม ยุทธศาสตร์ ทางการเมืองหรือกฏหมายเข้าประหัดประหารอีกฝ่ายหนึ่งตลอดเวลา ดังนั้นสถานการณ์ทางการเมืองจึงดูเหมือนไปไม่พ้น อคติหรือคุณค่าอันเกิดจากการตีความส่วนบุคคลทั้งนั้น

    ทั้งสองฝ่ายพยายามจะผลักให้ประชาชนไปยังสุดขอบของความอดทน อดกลั้นอย่างรุนแรงและเข้มข้น ทำให้ดูเหมือนกับว่าเราไม่สามารถกำหนดชะตามกรรมทางสังคมการเมืองได้อีกต่อไป เราต้องไปด้วยกันสักฝ่ายหนึ่งเท่านั้น ปรากฏการณ์แบบนี้ไม่ได้ช่วยให้เราก้าวพ้นเส้นผมที่บังหน้าเราอยู่ได้ เราไม่แม้แต่จะพยายามจินตนาการถึงสังคมการเมืองที่ดีกว่า หรือดีที่สุดว่ามันควรเป็นเช่นไรกันแน่

    สิ่งที่น่าสมเพชมากที่สุดคือบรรดาผู้คนที่เคยอวดอ้างตัวเองว่าเป็นผู้พิทักษ์ประชาธิปไตยหรือประชาชน ณ วันนี้ไม่มีสักคนบนเวทีปลุกระดมประชาชนอยู่ ที่จะพยายามใช้วถีทางประชาชนอย่างตั้งใจจริง รังแต่จะเอาชนะคะคาน หรือไม่ก็ double standard กับทุกสิ่งที่ตนเองเคยต่อสู้มา

    แลกเปลี่ยนความคิดเห็นค่ะ
    แอม

    Like

  2. นี่จี๊นะคะ — แวะมาเยี่ยมเยียน Blog ของชัยตามคำเชิญชวน และคิดว่าจะได้มีโอกาสมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้วยในโอกาสต่อ ๆ ไป — ตอนนี้ขอไปลุ้นก่อน ว่าหลังจากที่ท่านนายก ฯ ถูกพิพากษาให้พ้นตำแหน่งไปเพราะการชิมไปบ่นไปแล้ว — เมื่อไหร่เขาจึงจะเลิกใช้ความรุนแรงกับตัวเงินตัวทองในทำเนีบยด้วยการโพกผ้าแดงแห่สักที …. รังแกสัตว์จริง ๆ … -“-….

    Like

  3. แวะมาเยือนด้วยคนคร้าบ

    อ่านที่ชัยเขียนแล้ว
    ผมคิดถึงการบ้านวิชาความคิดทางการเมืองของไทย (สอนโดยอ.สมเกียรติ วันทะนะ) เป็นอย่างยิ่ง
    คำถามของอาจารย์คือ
    เราจะอยู่ในการเมืองไทยอย่างไร ไม่ให้บ้าไปเสียก่อน
    ที่สำคัญคือ เราควรจะสนใจการเมืองไทยหรือไม่ อย่างไร

    สุดท้ายได้แต่ประนมมือ แล้วท่อง (พร้อมๆกัน) ว่า
    อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

    Like

  4. เน น่าจะเขียนขยายความประเด็นของอาจารย์สมเกียรติมาเล่าให้ผมฟังบ้างนะ น่าสนใจดี จะได้ช่วยกันคิดต่อ โดยเฉพาะประเด็นที่่ว่า .เราควรจะสนใจการเมืองหรือไม่?” 🙂

    Like

  5. ชัย … การบ้านวิชานั้นเราก็เขียน — แล้วเราดันเขียนตอบไปว่า .. ยังไง ๆ เราก็ยังจะสนใจการเมืองไทยอยู่ดี –ไปเสียด้วย ^^” เราเลยไม่กล้ากลืนน้ำลายตัวเองโดยการบอกว่าเราเบื่อการเมืองไทย (ฮา….:D)

    ไว้ว่าง ๆ จะเอามาให้อ่านเล่น — ถ้าหากเนเอาของเนมาให้อ่านก่อน 555

    Like

  6. ผมก็ตอบไปว่าสุดท้ายก็คงจะต้องสนใจการเมืองอยู่ดี

    แต่ไม่ใช่สนใจในแบบที่คนไทยสนใจกัน
    คืออยู่ในความเป็นส่วนตัวและเพื่อความเป็นส่วนตัว
    การสนใจการเมืองแบบนี้ ไม่กระเทือนไปถึงการเปลี่ยนแปลงนโยบายสาธารณะ ฯลฯ

    เดี๋ยวผมค่อยเอามาสรุปๆ เป็นประเด็นให้ดีกว่า

    Like

  7. แวะมาเยี่ยม
    ไว้จะมาใหม่นะคะ
    ดูแลสุขภาพด้วย

    Like

  8. ขอคัดมาบางส่วนนะครับ (ขืนเอาทั้งหมดมีหวังได้กินข้าวแดงกันแหงๆ)

    …หากดูจากองค์ประกอบที่กล่าวแล้ว การเมืองไทยนั้นน่าจะมีลักษณะเป็นการเมืองในแบบที่ไม่เป็นทางการมากกว่าแบบที่เป็นทางการ เป็นเรื่องของโครงสร้างอำนาจมากกว่าจะเป็นสถาบันทางการเมือง และเป็นเรื่องส่วนบุคคลมากกว่าจะเป็นเรื่องของสาธารณะ จึงไม่แปลกแต่อย่างใดที่ในชีวิตประจำวันของคนไทย หากไม่นับในช่วงวิกฤติการณ์ทางการเมืองแล้ว การพูดคุยเรื่องการเมืองดูจะเป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นน้อยมาก ที่ดูจะเป็นรูปธรรมมากที่สุดคือสภากาแฟ (กิจกรรมยามเช้าของผู้ชายที่มากินน้ำชา กาแฟ ปลาท่องโก๋ และพูดคุยเรื่องการเมือง ในขณะที่ผู้หญิงกำลังทำงานบ้าน), การพูดคุยระหว่างญาติผู้ใหญ่ (ที่มักจะเป็นผู้ชายวัยกลางคนขึ้นไป), การเรียนการสอนในคณะรัฐศาสตร์ หรือ การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเวบไซต์ (ซึ่งดูจะได้รับความนิยมมากที่สุดในปัจจุบัน แต่ขอให้ตั้งข้อสังเกตว่าคนที่เล่นอินเตอร์เน็ตนั้นส่วนใหญ่จะเป็นชนชั้นกลางและมักจะแสดงความคิดเห็นโดยใช้นามแฝง) พฤติกรรมเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าความสนใจการเมืองไทยของคนไทยนั้นจำกัดอยู่ในพื้นที่เฉพาะและเป็นส่วนตัวอย่างมาก ไม่ได้เป็นเรื่องที่อยู่ในพื้นที่สาธารณะอย่างเช่นการสัมมนาวิชาการหรือเวทีรับฟังความคิดเห็น ด้วยเหตุนี้เองเรื่องที่คนไทยให้ความสนใจต่อการเมืองจึงเป็นเรื่องส่วนตัวค่อนข้างมาก (นอกจากนี้ ยังอาจสังเกตได้ว่าการโจมตีทางการเมืองของไทยโดยเฉพาะเวทีปราศัยหาเสียงจึงมักจะใช้เรื่องส่วนตัวเข้ามาเกี่ยวข้องเสมอ เช่น เชื้อชาติ, พฤติกรรมของลูกชาย, โกงใบวุฒิการศึกษา, รสนิยมทางเพศ, จดทะเบียนสมรสซ้อน เป็นต้น) ในขณะที่เรื่องทางด้านนโยบายสาธารณะคนไทยกลับไม่ค่อยให้ความสนใจ
    ในนิยายเรื่องคำพิพากษา ของ ชาติ กอบจิตติ แสดงให้เห็นได้ชัดถึงลักษณะการเมืองไทยที่ดำรงอยู่ในพื้นที่ส่วนตัวอย่างมาก กล่าวคือ เรื่องราวของฟักไม่เคยเป็นเรื่องที่ถูกนำมาพูดคุยอย่างจริงจัง (seriously) ในพื้นที่สาธารณะเลย มีแต่ข่าวลือและการพูดทีเล่นทีจริงที่ทุกคนสร้างขึ้นมาจากพื้นที่ส่วนตัวของตัวเองทั้งสิ้น ภาพภายนอกของหมู่บ้านที่ดูเหมือนกับว่าทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขนั้น แท้จริงแล้วคนแต่ละคนที่อยู่ในหมู่บ้านต่างก็ฟังคำนินทาต่อๆ กันมาและเชื่อในสิ่งที่ตนเองได้รู้ได้ฟังมาโดยไม่เคยลงมือตรวจสอบอย่างจริงจัง (ไม่เคยที่คนในหมู่บ้านจะพูดคุยกันอย่างเปิดเผยและตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วยเหตุด้วยผล) กล่าวคือ ไม่มีพื้นที่สาธารณะ (สำหรับฟัก) เหลืออยู่เลย (จนเขาต้องการที่จะไปอยู่ ‘ที่อื่น’) นอกจากนี้ คำพิพากษา ยังสะท้อนถึงลักษณะการเมืองไทยทั้งในเรื่องโครงสร้างความสูงต่ำในสังคมไทย (โดยเฉพาะกรณีของครูใหญ่ที่ได้รับการนับหน้าถือตาเป็นอย่างมาก) และอิทธิพลของศาสนาพุทธ (ได้แก่เรื่องของการรู้สึกผิดต่อสิ่งที่กระทำลงไป ไม่ว่าจะเป็นการผิดสัญญากับหลวงพ่อ หรือ การฆ่าหมาบ้า ก็ตาม) ที่กำหนดตำแหน่งแห่งที่และปกครองจิตใจของฟัก (และทุกคน) อีกด้วย…

    ปล.กำลังจะตั้งวงปรัชญาม้าหินอ่อนกันอีกครั้ง รีบกลับมาแจมนะครับ

    Like

  9. เนครับ

    ประเด็นของเนน่าสนใจไม่น้อย คำตอบของเน ต่อคำถามที่ว่า “เราควรสนใจการเมืองหรือไม่ อย่างไร” จึงน่าจะเป็น ควรสนใจ แต่สนใจในแง่แบบที่เป็นทางการ เ้น้นไปทางเรื่องสาธารณะ และให้ความใส่ใจกับเรื่องสถาบันการเมืองให้มากขึ้น
    (แน่นอน ผมคิดว่าเน คงไม่ได้ปัดทิ้งอีกด้านของ dichotomy นี้อยู่แล้ว แต่เป็นเรื่อง degree การวางน้ำหนักความสนใจให้แก่เรื่องแบบใดมากน้อยเท่าไหร่มากกว่า) และด้วยวิธีนี้ ทำให้เราสามารถสนใจการเมืองได้โดยไม่บ้าไปเสียก่อน

    เรื่องความเป็นทางการ และความเป็นสาธารณะ ผมเคยคิดอยู่เหมือนกันครับ

    แต่เรื่องความเป็นสถาบันการเมืองที่เนเสนอให้สนใจนั้น ผมลืมให้น้ำหนักกับเรื่องนี้ไปนานเลยครับ และคิดว่าน่าจะพอที่จะเป็น “เสาหลัก” ให้เราได้ยึดเป็น ethic of principle ได้ดี ท่ามกลางวิธีคิดแบบ ethic of consequence ที่ล้นหลามในสังคมไทยครับ และทำให้ผมมองเห็นว่าไอ้สิ่งที่ผมพูดถึงเรื่องการเมืองภาคประชาชน และการเมืองนอกสภานั้น จริงๆแล้ว ก็คือเรื่อง ความเป็นสถาบันทางการเมืองนั่นเอง

    ช่วงหลายวันมานี้ นับแต่เหตุการณ์ 7 ตุลาฯ ผมค่อนข้างจะ “เมาการเมือง” อีกครั้งหนึ่งครับ ขอบคุณที่ช่วยชี้ทาง/กู้สติให้ผมได้กลับคิดอะไรต่ออีกหลายอย่าง

    เวอร์ช้นเต็มของงานที่เนเขียนนี้กี่หน้าเหรอครับ น่าสนใจที่จะได้อ่านฉบับเต็มครับ ขอบคุณ

    ป.ล. ผมจะกลับไปถึงเมืองไทยวันที่ 2 ธ.ค. ตอนกลางคืนครับ ดังนั้น คิดว่าตอนต้นเดือน ธ.ค. คงจะได้ไปร่วมแจมวงปรัชญาม้าหินอ่อนอีกครั้งครับ คิดถึงวงนี้เช่นกัน ขอบคุณที่ชวน

    Like

Leave a comment