วิถีผู้นำแบบหยิน-หยาง : ชวนอ่าน “เต๋าของจวงจื๊อ” (ตอนที่ 1) – Yin/Yang Leadership

Yin-Yang Leadership : Reading “Tao of Chuang Zi” (Part 1)

.

(1) โลกและองค์กรที่ “หยาง” เข้ม “หยิน” พร่อง

โลกแทบทุกยุค แทบทุกอารยธรรม และองค์กรแทบทุกองค์กร มักเน้นให้ค่าและเชิดชูคนเก่ง คนประสบความสำเร็จ คนที่สร้างผลงานเป็นเลิศ เป็นผู้นำสูงส่ง สร้างประโยชน์ให้องค์กร หรือนำพาความเปลี่ยนแปลงให้กับผู้คนและสังคมมากมาย

วิถีผู้นำแบบนี้ แม้นำพาให้โลกและองค์กรต่างๆพัฒนามาไม่น้อย แต่หลายครั้ง ก็สร้างความเครียดให้กับผู้คน สังคมและองค์กรมากมาย และทำให้เกิดสำนึกของความกลัวที่จะเป็นผู้แพ้ ผู้พลั้งพลาด ถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง ตกขอบของสังคมออกไป เป็นผู้ถูกหลงลืม ผู้ถูกทอดทิ้ง สำนึกเหล่านี้ทำให้ผู้คนในกลุ่มนี้รู้สึกตัวเองด้อยค่า ไม่มีอะไรดี ไม่ดีเพียงพอ และไม่เคยดีพอ หนักๆเข้า ก็เป็นโรคซึมเศร้า ไปจนถึงฆ่าตัวตาย หรือฆ่าคนอื่นตายไปด้วย

ส่วนเหล่าผู้ชนะที่อยู่ในตำแหน่งผู้นำของระบบแบบนี้ ก็มักรู้สึกโดดเดี่ยว ไร้คนเข้าใจ ไว้วางใจใครไม่ได้ เผชิญความเครียดรุมเร้ารอบด้าน ทุกคนคาดหวังและฝากความหวังไว้ให้แก้ปัญหาต่างๆมากมายกองโตในแต่ละวัน ก่อเกิดความเจ็บป่วยมากมาย ตั้งแต่ไมเกรน โรคความดัน โรคหัวใจ มะเร็ง เส้นเลือดสมองแตก ฯลฯ

กล่าวด้วยวิถีปรัชญาหยิน-หยางของจีนแล้ว ปรากฏการณ์เหล่านี้บอกชัดว่า สังคมโลกเราและองค์กรต่างๆดำเนินไปด้วยวิถีผู้นำแบบ “หยาง” เข้มข้น แต่ “หยิน” พร่อง มานานเต็มที

วิถีผู้นำตามคติใน “คัมภีร์เต๋าของจวงจื่อ” พาเราเปิดฟ้าจินตนาการกว้างไกลชนิดไร้ขอบเขต ในการขบคิดเรื่องต่างๆ รวมทั้งเรื่องผู้นำองค์กร และ change agent ที่ใช้พลัง “หยิน” มาเป็นตัวนำมากขึ้นมากในแบบที่แตกต่างออกไป ชนิดพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน ในที่นี้ จะค่อยๆกล่าวถึงแต่ละเรื่องเป็นตอนๆไป

หมายเหตุ : เดิมที บทความนี้ ใช้สำนวนแปล “คัมภีร์เต๋าของจวงจื๊อ” ของ ปกรณ์ ลิมปนุสรณ์ (ที่แปลเฉพาะ “สมุดใน”) แต่หลัง post บทความนี้ไปแล้ว (12 ธันวาคม 2562) เมื่อพิจารณาอีกครั้ง พบว่าสำนวนแปลของสุรัติ ปรีชาธรรม (ที่แปลทั้ง “สมุดใน,” “สมุดนอก” และ “สมุดปกิณกะ” ทั้งหมดอย่างสมบูรณ์) เรียบง่ายกว่า และอ่านเข้าใจง่ายกว่า ทั้งยังได้ปรึกษาอาจารย์ปกรณ์ในระหว่างแปลด้วย ผู้เขียนจึงขอเปลี่ยนเนื้อหาส่วนที่อ้างถึงบทแปลต้นฉบับ จากของอาจารย์ปกรณ์ มาเป็นของคุณสุรัติ (ปรับปรุงเนื้อหาวันที่ 15 ธันวาคม 2562)

 

(2) จินตนาการ…ไร้ขีด : ก่อนดูโลกอื่น

จวงจื๊อเริ่มต้นในบทที่ 1 โดยเปิดขอบฟ้าจินตนาการเกี่ยวกับสิ่งต่างๆที่เรากำลังจะคิดคำนึงกัน (ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผู้นำ การเปลี่ยนแปลง หรือปรากฏการณ์ความเป็นจริงใดๆในชีวิต) ให้กว้างไกลไร้ขีดจำกัด ไปจนสุดขอบจักรวาล โดยแนะนำให้เรารู้จักกับพญามัจฉา (ปลา) นาม “คุน” ที่ใหญ่หลายพันลี้ และกลายร่างเป็นมหาปักษี (นก) นาม “เผิง” ที่มี…

“…แผ่นหลังของเผิงมโหฬารไม่รู้กี่พันลี้
ยามกระพือสะบัดปีกเหินสู่เวหา
ปีกแผ่กว้างราวแผ่นเมฆปกคลุมฟ้า…

…ขณะพญาเผิงสยายปีกมุ่งสู่ทะเลลึกแดนใต้
ท้องทะเลก็ปั่นป่วนคลุ้มคลั่งไกลถึงสามพันลี้
ปีกอันมโหฬารของพญานกตีลมเป็นพายุหมุน
และบินสูงขึ้นไปถึงเก้าหมื่นลี้
ถลาร่อนไปกับลมพายุเดือนหก
กระแสลมร้อนพัดเป่าฝุ่นตลบฟุ้ง
สรรพสิ่งสั่นไหวกระทบเสียดสีกัน…” (น. 85)

ความยิ่งใหญ่ไพศาลดังกล่าว ถูกนำมาเปรียบเทียบกับ “จั๊กจั่นน้อย” กับ “นกกระจาบ” ซึ่งไม่เชื่อว่ามีสัตว์ที่ยิ่งใหญ่ดังกล่าวอยู่ เพราะ…

“…เมื่อเรารวบรวมกำลังโผบินขึ้น
ก็ไปได้ไกลเพียงเกาะกิ่งต้นอี๋ว์และต้นฝาง
บางครั้งโผบินไปได้เพียงครึ่งค่อนทาง
ก็โรยแรง ร่วงหล่นสู่พื้น
แลจะโผบินไปไกลถึงเก้าหมื่นลี้
จนถึงแดนใต้เพื่อสิ่งใด” (น. 86)

จวงจื่อกล่าวย้ำถึงสิ่งมีชีวิตที่ไม่มีสำเหนียกรู้ถึงความเป็นไปได้ต่างๆนอกเหนือขอบเขตความเป็นจริงในความรับรู้ของตนเอง โดยพูดถึงชีวิตแสนสั้นอย่าง…

“…ดอกเห็ดยามเช้า
ไม่อาจพบพานแสงสนธยาและอรุณรุ่ง
จั๊กจั่นฮุ่ยกูแห่งฤดูร้อน
ไม่เคยรู้จักฤดูใบไม้ผลิและฤดูใบไม้ร่วง
นี่คือชีวิตที่แสนสั้น…”
(น. 86-7)

ละเปรียบต่างให้เห็นความยิ่งใหญ่ชนิดที่มนุษย์ผู้วุ่นวายกับสิ่งต่างๆในชีวิตประจำวัน มักนึกคิดไม่ถึง อย่าง…

“…เต่าหมิงหลิง
มันมีฤดูใบไม้ผลิยาวนานถึงห้าร้อยปี
และฤดูใบไม้ร่วงยาวนานถึงห้าร้อยปี
แต่ครั้งโบราณเนิ่นนานมาแล้ว
ยังมีต้นไม้ใหญ่ชื่อ ‘ชุน’
มีฤดูใบไม้ผลินานถึงแปดพันปี
และฤดูใบไม้ร่วงนานถึงแปดพันปี
นี่คือชีวิตที่ยืนยาว…”
 (น.87)

ทั้งหมดนี้ กล่าวได้ว่า มนุษย์และผู้นำ ผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงทั้งหลาย ที่พัฒนาตนเองถึงขั้นสูงสุดนั้น อยู่ในเขตแดนชนิดที่เหนือจินตนาการของเราไปมากมาย การปิดกั้นจินตนาการของเราเหลือเพียงเรื่องที่คิดว่าเป็นไปได้เท่านั้น จะทำให้เราพลาดโอกาสไปมากมาย

ในทางโลกุตตระหรือการพัฒนาทางจิตวิญญาณนั้น มนุษย์ที่เป็นผู้นำ (หรือ change agent) สำหรับจวงจื่อแล้ว คือ อริยบุคคล ซึ่งผู้คนมักถือว่าเป็นเรื่องไกลตัว เป็นไปไม่ได้ แล้วก็เลยละทิ้ง ปิดกั้น จำกัดจินตนาการของตัวเอง ลงมาเหลือแค่เรื่องการเป็นผู้นำสร้างความเปลี่ยนแปลงในระดับใกล้ตัวด้วยโจทย์หรือ vision ที่แม้ตนจะคิดว่าใหญ่แล้ว แต่เมื่อเทียบกับจินตนาการแบบมหาปักษี (นก) “เผิง” แล้ว อาจเป็นเป้าหมายกระจ้อยร่อย อย่างจั๊กจั่นและนกกระจาบก็เป็นได้

 

(3) เพิ่มสัดส่วนการนำแบบ “หยิน”

กระนั้นก็ตาม ในทางโลกียะ (secularized) เมื่อลดระดับผู้นำแบบที่จวงจื๊อพูดถึงลงมามากๆหน่อย เพื่อมาใช้ในทางโลกแล้ว เราก็จะพบมีปรากฏผู้นำแบบนี้มากมายในประวัติศาสตร์ งานเขียนในสายบริหารและพัฒนาองค์กร (Organizational Development) ที่โด่งดัง อย่าง Good to Great ของ Jim Collin ก็ถือได้ว่าอยู่ในลักษณะนี้เช่นกัน. หรือแม้แต่งานเขียนหลายเล่มในกลุ่ม OKRs (Objective and Key Results) ที่กำลังโด่งดังในปัจจุบัน  จากการที่บริษัทอย่าง Google นำไปใช้อย่างได้ผล และกำลังเบียดระบบประเมินแบบ KPI (Key Performance Indicator) ตกขอบ ก็เน้นการสร้างเป้าหมายแบบ stretch ชนิด 10x หรือสิบเท่าของเป้าหมายที่เราคิดว่าจะไปถึงได้

ข้อที่น่าสนใจ คือ หากจักจั่นและนกกระจาบพยายามจะบินให้ได้ไกล และตีปีกให้ได้แรงลมเป็นมหาวาโย เหมือนนก “เผิง” ให้ได้ ด้วยสรีระ กระดูกและกล้ามเนื้อเท่าที่ตนเองอีกอยู่นั้น ร่างกายคงต้องแหลกสลายเป็นแน่  การตั้งเป้าหมายแบบ 10x แบบ OKRs นั้น แม้ฟังดูน่าตื่นเต้น แต่เหล่าพนักงานที่ต้องทำให้ได้ตามเป้าใหญ่ขนาดนี้ ย่อมต้องมีความเครียดสูงมากแน่นอน

แต่ขนาดมหามัจฉา ปลา “คุน” ยังกลายร่างเป็นพญานก “เผิง” ได้เลย และจากหลักของจวงจื่อในเรื่องนก “เผิง” นี้เองก็บอกว่า มีความเป็นไปได้ไม่สิ้นสุด เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ได้เสมอ หากเราไม่จำกัดสำนึกของเราให้เล็กเหลือเท่าจั๊กจั่นและนกกระจาบ เราก็จะเป็นความเป็นไปได้มากมายไร้ขีดจำกัดนี้ ดังนั้น ใครจะรู้ว่า สักวันหนึ่ง นกกระจาบ ก็อาจกลายร่างเป็นนก “เผิง” แล้วบินได้ไกลและทรงพลังขนาดนั้นได้เช่นกัน ถ้าเงื่อนไขและการพัฒนาต่างๆถึงพร้อม

ทำนองเดียวกัน สำหรับ OKRs แล้ว เงื่อนไขที่ทำให้ 10x ถึงพร้อมและเป็นไปได้ คือ CFRs (Conversation, Feedback, Recognition). ถ้า OKRsไม่มี  CFRs เป็นระบบ soft side ช่วยหนุนเสริมการสื่อสาร พูดคุย (C); ให้ฟีดแบ็คอย่างสร้างสรรค์ ตรงไปตรงมา เพื่อการปรับปรุงของทุกคน (F); และให้เกียรติ ให้คำขอบคุณ คำชื่นชมแก่กันและกัน (R) แล้ว “พลังใจ” ของเหล่าพนักงานและ “พลังชีวิต” ขององค์กร ก็จะไม่แข็งแรงเพียงพอที่จะบินได้สูง ไกล และทรงพลังขนาดนั้นได้ ร่างกายและหัวใจคงจะแหลกไปก่อน อาจมีอาการ burnout และ turn over สูงได้แทน ไม่ต่างอะไรกับระบบ KPI แต่เดิม  อันที่จริงแล้ว CFRs นี้ถือเป็นหัวใจสำคัญและมีน้ำหนักมากกว่าครึ่งหนึ่งในระบบของ OKRs ด้วยซ้ำ

นอกจาก CFRs ที่ผู้คนเพิ่งเริ่มพูดถึง ปัจจุบันมีผู้นำองค์กรมากมายหันมาให้ความสนใจมิติด้าน soft side ซึ่งให้ความสำคัญกับจิตใจ อารมณ์ความรู้สึกของพนักงาน ต่อเพื่อนร่วมงาน หัวหน้า และความหมายของงานที่ทำมากขึ้นมาก ทั้งไอเดียเรื่อง Happy Workplace, Mindful Organization, Transformational Coaching, Dialogic Organization Development, Theory U, Empathy in Organization ฯลฯ บริษัท Google เอง ก็ขึ้นชื่อว่าใช้เรื่อง soft side มากๆ อย่าง Mindfulness Training ให้กับพนักงานและบุคคลภายนอก (ด้วยราคาแพงไม่น้อย เมื่อเทียบกับหลวงตา/หลวงพ่อ/หลวงแม่ หรือพระป่าบ้านเรา)  ในระดับองค์กร ปรากฏการณ์เหล่านี้ คือ การนำมิติวิถีผู้นำแบบหยินเข้ามาอยู่ใช้ในการบริหารคนและองค์กรมากขึ้น เพื่อสร้างองค์กรที่ “คนสำราญ งานสำเร็จ” (ไม่ใช่ “งานได้ผล คนแหลกลาญ” ภายในการนำแบบหยางเข้ม หยินพร่อง)

ในระดับโลกแล้ว ปรากฏการณ์ปัจจุบันที่เริ่มมีผู้นำประเทศเป็นผู้หญิงรุ่นใหม่ และไม่ได้ใช้บุคลิกความเป็นหยาง (แบบผู้ชาย) เหมือนผู้นำหญิงของโลกหลายคนก่อนหน้า แต่ใช้ความเป็น “หยิน” ในการนำประเทศอย่างน่าสนใจมาก อย่าง Jacinda Ardern นายกรัฐมนตรีประเทศนิวซีแลนด์ ก็ให้สัมภาษณ์ BBC พูดถึงการใช้ “ความเข้าอกเข้าใจ” (Empathy) ในการเอาชนะใจคู่แข่งทางการเมืองทั้งหลายและนำประเทศด้วยสำนึกแบบดูแลใส่ใจทั้งคนและธรรมชาติ เช่น การมองเห็นจำนวนคนไร้บ้านจำนวนมากในนิวซีแลนด์ ว่าเป็นสัญญาณบอกความผิดปกติในการพัฒนาที่ผ่านมาของนิวซีแลนด์, การพูดถึงเรื่องเศรษฐกิจการเมืองบนฐานของความเข้าอกเข้าใจ (empathy) ความเมตตา (kindness) และชีวิตที่ดี (well-being) ในเวทีที่สนใจแต่เรื่องเศรษฐกิจและผลกำไรไม่มีขีดจำกัดอย่าง World Economic Forum, การคลุมฮิญาบไปร่วมงานแสดงความเสียใจต่อกรณีคนมุสลิมที่ถูกกระหน่ำยิงในมัสยิด Christchurch, การผ่านกฎหมายแบนถุงพลาสติคทั่วประเทศ เป็นต้น

jacinda in WEF

นอกจากนี้ ล่าสุด การผ่านกฎหมาย Zero Carbon ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ที่ตั้งเป้าให้นิวซีแลนด์ลดแก๊ซเรือนกระจกให้ “เกือบหมดไป” (near-neutral level) ภายในปี 2050 นั้น ถือได้ว่าเป็นการตั้งเป้าแบบ 10x (อันที่จริง ต้องเรียกว่า 100x มากกว่า) แก้ปัญหายากๆของโลกด้วยวิถีการนำแบบหยิน ที่เสริมส่วนดุลย์เข้ามาในโลกการนำแบบหยาง  ได้อย่างน่าประทับใจยิ่ง

 

อีกปรากฏการณ์ล่าสุดที่น่าสนใจ คือ การที่ประเทศฟินแลนด์ได้ Sanna Marin เป็นนายกรัฐมนตรีหญิง รวมถึงผู้นำของห้าพรรคการเมืองใหญ่ของฟินแลนด์ที่เป็นผู้หญิงทั้งหมด ก็เป็นอีกปรากฏการณ์ที่น่าติดตามว่าผู้นำแบบหยินจะสร้างความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆอะไรให้กับฟินแลนด์และโลกนี้บ้างเช่นกัน

อ้างอิง

  • ปกรณ์ ลิปนุสรณ์ (แปลและเรียบเรียง) คัมภีร์เต๋าของจวงจื่อ, กรุงเทพฯ : เคล็ดไทย, 2540.
  • สุรัติ ปรีชาธรรม (แปลและเรียบเรียง) จวงจื่อ (ฉบับสมบูรณ์), กรุงเทพฯ : โอเพ่นบุ๊กส์, 2554.

เขียนโดย ดร.ชาญชัย ชัยสุขโกศล
ผู้ร่วมก่อตั้ง CoJOY.

photo credit : the guadian; financial times; youtube

One comment

  1. […] ในตอนที่แล้ว พญานก “เผิง” ของจวงจื่อ พาเราไปรู้จักกับความเป็นไปได้ไร้ขีดจำกัด  เมื่อมีจินตนาการ มองเห็นสิ่งต่างๆได้ทะลุปรุโปร่งขนาดนั้นแล้ว จึงไม่มีสิ่งใดหรือใครไร้คุณค่า ไร้ประโยชน์เลย.  จวงจื่อ เน้นถึงการที่ผู้นำระดับนี้จะสามารถมองเห็นประโยชน์ของสิ่งไร้ประโยชน์มากมาย. กล่าวในเชิงองค์กรแล้ว เมื่อไม่มีพนักงานคนใดไร้ประโยชน์ ก็เท่ากับว่ามีที่ทางให้พนักงานให้แสดงศักยภาพมากมายของตนเองให้เป็นประโยชน์กับองค์กรไม่รู้สิ้นเช่นกัน. […]

    Like

Leave a comment