สันติวิธีของพันธมิตรฯ กับ 3 คำถามที่นักสันติวิธีต้องตอบ

[PDF: 5 pages]

คำถามที่1 : เราสามารถเรียกการประท้วงหรือขบวนการเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยว่าเป็นสันติวิธีได้หรือไม่?

คำถามที่ 2 : เราจะวางท่าทีอย่างไรหากขบวนการเคลื่อนไหวโดยใช้สันติวิธี ที่มีหน่วยพร้อมใช้ความรุนแรงเป็นส่วนหนึ่งอยู่ด้วย หรือเป็นขบวนการที่บางครั้งใช้สันติวิธี บางคราวใช้ความรุนแรง?

คำถามที่ 3 : เราจะมีท่าทีอย่างไรกับขบวนการเคลื่อนไหวที่มิได้ใช้ความรุนแรงทางกายภาพ แต่ใช้ความรุนแรงแบบอื่น เช่น ความรุนแรงทางคำพูด เป็นต้น?

จากเหตุการณ์บ้านเมืองนี้ในช่วงที่ผ่านมา 2-3 ปี โดยเฉพาะเหตุการณ์เมื่อเช้าวันที่ 26 สิงหาคม เหตุการณ์การปะทะกันระหว่างพันธมิตรฯกับกลุ่มนปก. เมื่อคืนวันที่ 1 ต่อ 2 กันยายน และเหตุการณ์สลดล่าสุดเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 คำถามข้างต้นเป็นคำถามที่ผู้ที่สนใจสันติวิธีจำเป็นต้องช่วยกันคิดและร่วมกันถกเถียงทำความเข้าใจ เพราะต่อไป สังคมไทยคงต้องเผชิญคำถามทำนองนี้อีกมาก บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อชวนคุยในประเด็นดังกล่าว

.

******* หนึ่ง *******

ก่อนจะคุยกันต่อไปเพื่อตอบคำถาม 3 ข้อข้างต้น มีพื้นฐานทฤษฎีสันติวิธีที่ต้องทำความเข้าใจกันก่อน คือ “สันติวิธี” เป็นคำซึ่งรวบรวมการเผชิญหน้ากับความขัดแย้งหลายรูปแบบ แนวคิดของขบวนการสันติวิธีก็มีหลายชนิด (ดังที่ อ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เคยกล่าวไว้แล้ว) แต่จุดยืนของผู้ใช้สันติวิธีนั้น อาจแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ คือ

(1) สันติวิธีบนฐานหลักการ (principled nonviolence) ผู้ใช้สันติวิธีประเภทนี้จะยึดมั่นอยู่บนฐานของหลักศีลธรรม มนุษยธรรม หรือความเชื่อทางศาสนาว่า การกระทำความรุนแรงทุกชนิดเป็นสิ่งต้องห้าม เพราะเราทุกคนคือมนุษย์เหมือนๆกัน ดังนั้น จะไม่มีคำพูดแห่งความเกลียดชังหรือดูถูกเหยียดหยาม ออกมาจากผู้ใช้สันติวิธีประเภทนี้ ตัวอย่างอมตะของผู้ใช้สันติวิธีประเภทนี้คือ มหาตมะคานธี นี่เป็นเหตุให้เมื่อคนพูดถึงสันติวิธี ก็มักจะถึงว่าเป็นอย่างเดียวกับแนวคิดอหิงสาของเขา

(2) สันติวิธีเชิงปฏิบัตินิยม (pragmatist nonviolence) ผู้ใช้สันติวิธีประเภทนี้ ในใจของตนอาจไม่มีความเชื่อใดๆเลยว่าการใช้ความรุนแรงเป็นสิ่งผิด และไม่เชื่ออะไรในเรื่องความดีงามของมนุษย์เลยก็เป็นได้ แต่ที่ตนไม่ใช้ความรุนแรงในการเผชิญหน้ากับความขัดแย้ง ก็ด้วยเหตุผลด้านประสิทธิภาพเท่านั้น กล่าวคือ เห็นว่าการใช้สันติวิธีในการเผชิญความขัดแย้งนั้น มีประสิทธิภาพมากกว่าการใช้ความรุนแรง เพราะเมื่อใดก็ตามที่เริ่มใช้ความรุนแรง เมื่อนั้นความชอบธรรมของขบวนการสันติวิธีก็จะหดหายไปทันที

นักคิดคนสำคัญของสันติวิธีแนวปฏิบัตินิยม คือ ยีน ชาร์ป (Gene Sharp) ซึ่งหนังสือของเขา (Sharp, 1973) เคยแปลเป็นภาษาไทยไว้แล้วตั้งแต่ปี 2529 ชื่อ “อำนาจและยุทธวิธีไร้ความรุนแรง” (พิมพ์โดยสำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง) และเขาได้รวบรวมวิธีการของปฏิบัติการไร้ความรุนแรงทั่วโลกไว้ได้ถึง 198 วิธี

อันที่จริงแล้ว ชาร์ปเรียกสันติวิธีประเภทนี้ว่า “ปฏิบัติการไร้ความรุนแรง” (nonviolent action) ซึ่งย้ำอีกครั้งว่า เป็นคนละอย่างกับ “อหิงสา” ของคานธี เพราะผู้ใช้อหิงสานั้น จะต้องมีความหนักแน่นและความรักในจิตใจอย่างมาก ถึงขนาดสามารถรักได้แม้ศัตรู และสามารถยอมสละตนเพื่อรับความทุกข์จากการทำร้ายของอีกฝ่ายได้ โดยไม่ยอมให้ตนเป็นผู้กระทำความรุนแรงต่อฝ่ายตรงข้าม ทั้งนี้ด้วยหวังว่าความเจ็บปวดของตนจะช่วยปลุกความเป็นมนุษย์ของผู้ใช้ความรุนแรงได้ และหาทางออกจากความขัดแย้งได้อย่างสร้างสรรค์ร่วมกัน

ควรกล่าวไว้เล็กน้อยว่าการเรียกสันติวิธีประเภทที่สองนี้ว่า “สันติวิธีเชิงปฏิบัตินิยม” นั้น ไม่ได้เป็นเพราะมีข้อรังเกียจเรื่องการเลือกปฏิบัติหรือเรื่องอื่นๆแต่อย่างใด แต่เรียกเพราะสันติวิธีชนิดนี้ตั้งอยู่บนฐานที่ว่าต้องปฏิบัติการได้จริง คาดการณ์ได้ และเห็นผล ผู้ใช้จึงจะตัดสินใจใช้มัน ข้อดีของสันติวิธีเชิงปฏิบัตินิยมหรือปฏิบัติการไร้ความรุนแรง คือ การไม่มีความรุนแรงทางกายภาพเกิดขึ้น

นอกจากนี้ สำหรับการเมืองไทยที่ผ่านความรุนแรงนองเลือดมามากมายนั้น ตรรกะเรื่องประสิทธิภาพของ “สันติวิธีเชิงปฏิบัตินิยม” หรือ “ปฏิบัติการไร้ความรุนแรง” นั้น ปัจจุบันไม่ได้กำกับขบวนการสันติวิธีเพียงฝ่ายเดียว แต่ใครก็ตามที่ขึ้นมาเป็นรัฐบาล ก็ต้องระวังท่าที ไม่ยอมให้ตนเพลี่ยงพล้ำพลาดท่าไปใช้ความรุนแรง แล้วในที่สุด ก็จะสูญเสียความชอบธรรมในการบริหารประเทศไปได้ง่ายๆเหมือนในอดีต

บนฐานของสันติวิธี 2 ประเภทดังกล่าวข้างต้น คำถามข้อแรก จึงสามารถตอบได้ว่า ขบวนการเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ผ่านมานั้น อาจเรียกได้ว่าเป็น “สันติวิธี” ดังที่แกนนำพันธมิตรฯประกาศมาตั้งแต่แรก แต่เป็น “สันติวิธีเชิงปฏิบัตินิยม” หรือถ้าให้ชัดเจน ต้องเรียกว่าเป็น “ปฏิบัติการไร้ความรุนแรง” เพราะสันติวิธีของพันธมิตรฯวางอยู่บนจุดยืนด้านประสิทธิภาพและการคาดการณ์ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นจากปฏิบัติการแต่ละครั้ง (ดังที่มีการวิเคราะห์กันอย่างล้นหลามเกี่ยวกับการเมืองเรื่องอำนาจ ขุมกำลัง ยุทธศาสตร์และยุทธวิธี ในช่วงที่ผ่านมา) และเพราะสันติวิธีของพันธมิตรฯไม่ได้มีท่วงทำนองและถ้อยคำแห่งการที่สามารถรักได้แม้ศัตรูหรือการยอมเป็นผู้รับความทุกข์ทนเองแต่อย่างใด

.

******* สอง *******

คำถามที่สอง คือ ถ้าปฏิบัติการที่ผ่านมาของพันธมิตรฯเป็น “ปฏิบัติการไร้ความรุนแรง” จริง แล้วเราจะมีท่าทีอย่างไรกับการบุกเอ็นบีทีเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม เหตุการณ์ปะทะกันในคืนวันที่ 1 ต่อ 2 กันยายน จนผู้ร่วมชุมนุมกับกลุ่ม นปก. เสียชีวิตไปหนึ่งคน และเหตุการณ์สลายการชุมนุมหน้ารัฐสภาเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ที่ตามมาด้วยการโต้ตอบจากฝ่ายผู้ชุมนุม ทั้งการใช้ปลายแหลมด้ามธงแทงตำรวจและการขับรถทับตำรวจ?

คำตอบหนึ่งอาจมาจากเจ้าของทฤษฎีอย่างยีน ชาร์ป โดยพิจารณาเรื่องพลวัตของปฏิบัติการไร้ความรุนแรง (ทั้งนี้ อาจฟังดูเหมือนเลือดเย็นไร้ศีลธรรมเล็กน้อย แต่นั่นก็เพราะเรากำลังวิเคราะห์กันบนตรรกะเรื่องประสิทธิภาพของสันติวิธีเชิงปฏิบัตินิยม มิได้อยู่จุดยืนทางศีลธรรมของสันติวิธีบนฐานหลักการ)

ชาร์ปตระหนักอยู่เสมอว่า ในสถานการณ์จริงนั้น เป็นไปได้อย่างมากที่ผู้ใช้ปฏิบัติการไร้ความรุนแรงจะต้องเผชิญกับมาตรการนานาชนิดทั้งการกดดันทางจิตวิทยา การปล่อยข่าวลือ การทำให้ขบวนการแตกกันเอง การดิสเครดิต การใช้มือที่สาม รวมทั้งการใช้กำลังทหารตำรวจเข้ากดปราบ นอกจากนี้ อาจมีผู้ร่วมชุมนุมบางส่วนที่อยากจะหันไปใช้ความรุนแรงโต้ตอบ หรือ (สำหรับผมเอง นี้รวมไปถึง) กระทั่งชิงลงมือก่อนก็เป็นได้

แต่ชาร์ปเตือนว่าผู้ใช้ปฏิบัติการไร้ความรุนแรงนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องยึดมั่นรักษา “วินัยไร้ความรุนแรง” (nonviolent discipline) เอาไว้ให้ได้ แม้จะเผชิญกับการกระทำอันโหดร้ายเพียงใดก็ตาม เพราะถ้าขบวนการฯสามารถรักษาวินัยไร้ความรุนแรงไว้ได้ ไม่ใช้ความรุนแรงตอบโต้แล้ว ผลจากการกระทำความรุนแรงนั้นก็จะย้อนกลับไปทำร้ายตัวผู้กระทำเอง ทำให้ผู้กระทำความรุนแรงสูญเสียความชอบธรรมอย่างรวดเร็ว และฝ่ายผู้ใช้ปฏิบัติการไร้ความรุนแรงก็จะได้รับความชอบธรรมและความเห็นใจเพิ่มขึ้นสูง แต่หากขบวนการฯหันไปใช้ความรุนแรงตอบโต้แล้ว ผลสุดท้าย ความรุนแรงนั้นจะย้อนกลับมาบั่นทอนอำนาจและความชอบธรรมของฝ่ายขบวนการสันติวิธีเองด้วยเช่นกัน

ความชอบธรรมที่ลดลงของพันธมิตรฯที่เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ต่างๆดังกล่าว เป็นประจักษ์พยานชัดเจนของกระบวนการดังกล่าวนี้

อย่างไรก็ตาม นัยยะในคำเตือนนี้ของชาร์ป คือ เป็นไปได้เหมือนกันที่ขบวนการซึ่งแต่เดิมตั้งใจจะใช้สันติวิธี แล้วหันมาใช้ความรุนแรง นี้จึงมาสู่คำถามข้างต้นว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้แล้ว เราจะทำอย่างไรกับขบวนการนั้น? คำตอบประการหนึ่ง คือ เราจำเป็นต้องช่วยกันสนับสนุนให้กำลังใจ ตักเตือน เรียกร้อง กดดัน หรือกระทั่งประณาม (ทั้งนี้แล้วแต่จุดยืนและความสัมพันธ์ของแต่ละคนต่อขบวนการฯ) ให้ขบวนการนั้นกลับเข้ามาสู่แนวทางของปฏิบัติการไร้ความรุนแรง ซึ่งเชื่อว่ามีประสิทธิภาพมากกว่า

ช่วงที่ผ่านมา หลายๆฝ่ายในสังคมไทยก็ได้ออกมากระทำการทำนองนี้ต่อพันธมิตรฯแล้วเช่นกัน และนี่คือส่วนหนึ่งของน้ำยาสันติวิธีของสังคมไทยที่ทุกฝ่าย ทั้งอาจโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม ได้พยายามอย่างยิ่งในการช่วยกันกำกับให้ความขัดแย้งที่ร้อนแรงนั้น ให้อย่างน้อยที่สุดต้องไม่มีความรุนแรงทางกายภาพ

.

******* สาม *******

ก่อนถึงคำถามที่สาม มีคำถามแทรกประการหนึ่ง คือ แล้วเราจะมีท่าทีอย่างไรหากขบวนการเคลื่อนไหวไร้ความรุนแรงนั้น ไม่ลงมือเป็นผู้ใช้ความรุนแรง แต่วางเงื่อนไขให้ตกเป็นเหยื่อการใช้ความรุนแรงจากอีกฝ่ายหนึ่ง? ประเด็นนี้ เป็นเรื่องอ่อนไหว จำเป็นต้องพิจารณาอย่างระมัดระวัง

ประการแรกสุดที่ต้องย้ำไว้ก่อน คือ กรณีเช่นนี้แตกต่างจากกรณีการรณรงค์ภาษีเกลืออันโด่งดังของคานธี ที่ประกาศจะพาผู้ร่วมชุมนุมบุกยึดโรงผลิตเกลือ (ที่เมืองธารสาน ในรัฐคุชราต บางแห่งเรียกการรณรงค์ครั้งนี้ว่า “สัตยาเคราะห์ธารสาน” (Dharasana Satyagraha)) ทั้งที่รู้ว่าจะต้องถูกตำรวจทำร้ายรุนแรง และตำรวจทำเช่นนั้นจริงๆ ที่ว่าแตกต่างกันเพราะ ขบวนการของคานธีเป็นขบวนการอหิงสา กล่าวคือ ผู้เข้าร่วมชุมนุมครั้งนั้นรู้แน่ชัดว่าจะต้องถูกทำร้าย แต่ก็มีการเตรียมตัวกันมาอย่างดี มีการจัดรูปขบวนแถวหน้ากระดาน ค่อยๆเดินทีละก้าวเข้าหาตำรวจที่ยืนเฝ้าประตูโรงผลิตเกลือ เพื่อให้ตีโดยไม่ปัดป้องใดๆ และเตรียมตัวกันดีถึงขนาดมีหน่วยแบกหามผู้ที่ถูกตีล้มลงออกไปให้หน่วยปฐมพยาบาลรักษา และให้ผู้ร่วมชุมนุมแถวถัดไปเดินเข้าหาตำรวจต่อได้ ด้วยจิตใจที่ผ่านการฝึกฝนมาอย่างหนัก ว่าไม่โกรธ เกลียด หรือกลัวตำรวจ แต่ต้องการจะยึดโรงผลิตเกลือให้ได้เท่านั้น (อ่านรายละเอียด Dharasana Satyagraha และโดยเฉพาะคำพูดของ Webb Miller นักข่าวอังกฤษที่อยู่ในเหตุการณ์ครั้งนี้และรายงานเหตุการณ์ให้คนอังกฤษและทั่วโลกรับรู้)

[note: เนื่องจากไม่สามารถหาคลิปเหตุการณ์จริงตอนขบวนการสัตยาเคราะห์ของคานธีบุกโรงผลิตเกลือที่ Dharasana มาดูได้ จึงต้องอาศัยคลิปจากภาพยนตร์เรื่อง Gandhi โดยเฉพาะนาทีที่ 7.32 เป็นต้นไป นักข่าวที่ปรากฏในคลิปนี้ คือ (แสดงเป็น) Webb Miller]

ส่วนกรณีของขบวนการเคลื่อนไหวไร้ความรุนแรงนั้น แตกต่างกัน ดังที่กล่าวไว้แล้วว่าไม่ได้ตั้งอยู่บนฐานศีลธรรมหรือความรักแบบขบวนการอหิงสาของคานธี แต่อยู่บนหลักเรื่องประสิทธิภาพของปฏิบัติการไร้ความรุนแรง ที่เหนือกว่าวิธีการใช้ความรุนแรง

สำหรับคำตอบต่อคำถามข้างต้นนั้น แยกตอบได้เป็น 2 กรณี กรณีแรก คือ กรณีที่มีความตั้งใจให้ฝ่ายตนถูกกระทำความรุนแรง (ซึ่งผมได้แต่หวังไว้ว่าคงไม่เป็นเช่นนั้น) กรณีนี้ ชาร์ปก็กล่าวย้ำไว้ในหัวข้อพลวัตของปฏิบัติการไร้ความรุนแรงเช่นกัน ว่า “นักปฏิบัติการไร้ความรุนแรงไม่ควรยั่วยุให้เกิดการกระทำอันป่าเถื่อน…[แต่ควร] เลือกปฏิบัติการที่จะบรรเทาลดทอนขอบเขตและความเข้มข้นของการปราบปราม โดยไม่ทำให้การแข็งข้อของฝ่ายตนอ่อนแอลง” (ชาร์ป, 2529: 203) ชาร์ปใช้คำว่า “ไม่ควร” แต่อันที่จริง แต่อันที่จริง ผมเห็นว่าต้องกล่าวว่า ขบวนการฯ “ต้องไม่” ยั่วยุให้เกิดการกระทำอันป่าเถื่อนต่อฝ่ายตน มากกว่า

กรณีที่สอง คือ กรณีที่ขบวนการฯอาจจำเป็นต้องพาผู้ร่วมชุมนุมเข้าไปอยู่ในภาวะล่อแหลมอันตรายสุ่มเสี่ยงต่อการถูกทำร้ายมากขึ้น ด้วยเหตุผลในการกระตุ้นเร้าหรือปลุกใจให้มีผู้เข้าร่วมมากขึ้นหรือได้รับความเห็นใจมากขึ้น ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ก็จำเป็นต้องย้อนกลับมาพิจารณากันถึงวิธีการที่ผ่านมาของขบวนการฯ ว่า มีข้อผิดพลาดอะไรหรือไม่ที่ทำให้การเคลื่อนไหวที่ผ่านไม่เกิดประสิทธิผล จนต้องพาผู้ร่วมชุมนุมเข้าไปอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงมากขึ้นเช่นนี้? ตัวอย่างเช่น อาจประณามกลุ่มอื่นๆที่ไม่เห็นด้วยกับขบวนการฯมากเกินไปหรือไม่ กลายเป็นสลายพลังกลุ่มต่อต้านรัฐบาลด้วยกันเอง ทั้งนี้เพราะปฏิบัติการไร้ความรุนแรงนั้น จะโค่นรัฐบาลได้ ก็ต่อเมื่อสังคมทั้งสังคมร่วมกันอย่างล้นหลามในการเพิกถอนการให้ความร่วมมือต่อรัฐบาลหรือหยุดงานทุกชนิดทุกภาคส่วนอย่างพร้อมเพรียงกัน เมื่อนั้น รัฐบาลก็ไม่อาจบริหารประเทศต่อไปได้ และจำต้องลงจากอำนาจเพียงสถานเดียว

.

******* สี่ *******

สำหรับคำถามสุดท้ายเรื่องความรุนแรงทางคำพูดนั้น ชาร์ปไม่ได้กล่าวถึงไว้ตรงๆแต่อย่างใด แต่หากวิเคราะห์ด้วยฐานตรรกะเรื่องประสิทธิภาพตามหลักยึดของปฏิบัติการไร้ความรุนแรงไปให้สุดทางแล้ว จะทำให้เราเห็นอะไรบางอย่างที่น่าสนใจมากขึ้น

คำถามคือ นอกเหนือจากเหตุผลด้านบุคลิกส่วนตัวของผู้นำขบวนการฯแล้ว เหตุใดขบวนการปฏิบัติการไร้ความรุนแรง จึงยังคงใช้ถ้อยคำแห่งความรุนแรง ความโกรธแค้น และความเกลียดชังได้ ทั้งที่รู้กันอยู่ว่าจะทำให้ประสิทธิภาพและความชอบธรรมในปฏิบัติการของตนอาจลดลง เพราะหลายคนอาจไม่เห็นด้วยและไม่เข้าร่วม?

คำตอบน่าจะอยู่ในวัฒนธรรมและวิธีคิดของสังคมไทย กล่าวคือ เพราะผู้นำของขบวนการฯนั้น น่าจะคิดคำนวณแล้วว่า ด้วยการใช้ถ้อยคำที่ก้าวร้าวรุนแรงบนฐานของการอ้างอิงอุดมการณ์บางชนิด (เช่น ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นต้น) เพื่อโจมตี หรือลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ของฝ่ายตรงข้ามลงนั้น จะสามารถกระตุ้นเร้าให้มีจำนวนกลุ่มผู้เข้าร่วมกับขบวนการฯได้มากกว่าจำนวนกลุ่มผู้ไม่เห็นด้วยและไม่เข้าร่วม (ซึ่งจำนวนหนึ่งน่าจะยึดมั่นในสันติวิธีบนฐานหลักการ และกังขาต่อสันติวิธีเชิงปฏิบัตินิยมของขบวนการฯ) โดยเฉพาะเมื่อกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยมีสัดส่วนเพียงน้อยนิดเมื่อเทียบกับกลุ่มคนที่เห็นด้วย

กล่าวอีกนัยหนึ่ง เหตุที่ความรุนแรงทางคำพูดหรือถ้อยคำแห่งความเกลียดชังสามารถดำรงอยู่ได้ในขบวนการปฏิบัติการไร้ความรุนแรง ก็เพราะผู้คนจำนวนมาก (ซึ่งส่วนใหญ่คือผู้เข้าร่วมขบวนการฯ) นั้นรู้สึกยอมรับได้ รู้สึกเป็นเรื่องถูกต้องแล้ว กระทั่งบางครั้งยังสนับสนุนอย่างแข็งขันอีกด้วยที่จะต้องยึดมั่นในสิ่งหวงแหนเป็นที่เคารพบูชาอันสูงสุดของไทยเอาไว้ แม้บางครั้งอาจจะต้องทำลายชีวิตของอีกฝ่ายหนึ่งลงไปก็ตาม

นอกจากนี้ ความรู้สึกยึดมั่นเทิดทูนในอุดมการณ์ดังกล่าว รวมทั้งอารมณ์ของผู้ร่วมชุมนุมในบางสถานการณ์ (ตัวอย่างเช่นหลังจากถูกทำร้าย หรือสลายชุมนุมนั้น) ในทางกลับกัน ก็ดูเหมือนจะไม่อนุญาต หรือไม่มีที่ทางให้แกนนำสามารถกล่าวถ้อยคำแห่งความรัก ความเห็นอกเห็นใจ ต่อฝ่ายตรงข้ามได้เช่นกัน

ในแง่นี้ สำหรับผู้ที่ยึดมั่นสันติวิธีบนฐานหลักการแล้ว สิ่งที่จะต้องต่อสู้ด้วยจึงไม่ใช่เพียงเรื่องการใช้ถ้อยคำรุนแรงของผู้นำขบวนการฯเท่านั้น แต่เป็นอารมณ์ของสังคมและความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมที่แฝงฝังอยู่ในสังคมไทย ซึ่งยอมอนุญาตให้มีคำพูดหรือท่าทีแห่งความเกลียดชังและการลดทอนความเป็นมนุษย์ของคนอื่น เกิดขึ้นและกล่าวซ้ำๆอยู่อย่างเปิดเผยและเต็มภาคภูมิได้ในพื้นที่ทางการเมืองของสังคมไทย

อ้างอิง

Sharp, Gene (1973) The Politics of Nonviolent Action, Boston: Porter Sargent.

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ใน กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 28 ตุลาคม 2551 หน้า 15

8 comments

  1. จากบทความนี้ มีข้อสงสัยและอยากแลกเปลี่ยนด้วยค่ะ
    1. สันติวิธีในแบบที่2 หรือ ปฏิบัติการไร้ความรุนแรงที่ตั้งอยู่บนการให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพของการปฏิบัติการนั้นเป็นสิ่งที่เพียงพอแล้วหรือ ประสิทธิภาพจะอยู่ได้ลอยๆ โดยที่ไม่ต้องคำนึงถึงความสงบสุขหรือกฎระเบียบ หรือ ความปกติสุขของชีวิตผู้คนในสังคมที่อยู่นอกขบวนการได้หรือ? และหากศีลธรรมจรรยาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้คนซึ่งคงไม่ง่ายที่จะตัดทิ้ง ประสิทธิภาพที่จะได้จากการปฏิบัติการจะเป็นไปได้ละหรือ?
    2. ความไม่แน่ใจของผู้อ่านเองว่า สันติวิธี คือ อะไรกันแน่ หากเป็นหลักการ หรือ ฐานความคิดความรู้ที่มั่นคงน่าจะต้องคิดถึงขั้นตอนหรือวิธีปฏิบัติเพื่อรองรับอย่างเป็นรูปธรรม และควรที่จะต้องมีการป้องกันการบิดเบือน แต่หากเป็นวิธีการในการปฏิบัติเท่านั้นก็ดูจะอันตรายเหมือนกัน หากวิธีการนั้นถูกใช้บนฐานความคิด หรือความรู้ที่ไม่ได้คำนึงถึงสันติ หรือการหยุดยั้งความรุนแรง

    Like

  2. ตอบคุณ bejued

    ในที่นี้ ผมจะตอบแบบ “วิชาการจ๋า” นะครับ ชวนคุยชวนคิดและยุแหย่ให้เถียงตอบ ไม่จำเป็นว่าผมต้องคิดอย่างนี้ซะทีเดียวทั้งหมด เพราะบล็อกนี้ ผมไม่ต้องการให้เป็น “บล็อกการเมือง” ที่จะมาแสดงจุดยืนกันและเอาแพ้เอาชนะกันไปข้าง แต่ต้องการให้เป็น “บล็อกวิชาการ” ที่มานั่งเถียงกันอย่าง “หน้าดำหน้าแดง” เพื่อให้เห็นแง่มุมต่างๆของประเด็นที่สำคัญๆครับ ดังนั้น “การไม่เห็นด้วย” จึงเป็นเรื่องสำคัญ และเรื่อง “ความทนกันได้” ต่อความเห็นต่างนี้ยิ่งสำคัญมากในบริบทการเมืองของประเทศที่ดูจะ “ทนกันได้” น้อยลงเรื่อยๆ

    ผมต้องออกตัวเช่นนี้ไว้ก่อน เพราะว่า blog นี้ เปิดสาธารณะ ไม่ได้ตั้ง hide from search engine ไว้ ดังนั้นใครอาจ search เจอแล้วเข้ามาอ่านได้

    **********************

    ตอบคำถามที่ 1. ในสันติวิธีแบบที่สองนั้น เรากำลังพูดถึงการเมืองเรื่องอำนาจ (power politics) ไม่ใช่การเมืองเรื่องศีลธรรม (moral politics) ครับ พูดในภาษาปรัชญาการเมือง คือ แนว Machiavillian นั่นเอง พูดอีกนัยหนึ่ง คือ เรากำลังพูดถึง ethic of consequence ไม่ได้พูดถึง ethic of principle ครับ อย่างไรก็ตาม ทั้งสอง ethic และสันติวิธีทั้งสองแบบไม่ได้แยกกันเด็ดขาดซะทีเดียว

    ดังนั้น คำถามที่ว่าสันติวิธีแบบที่สองนั้นเพียงพอหรือไม่ ต้องคำนึงถึงความสงบสุข กฎระเบียบ ชีวิตและศีลธรรมจรรยาของผู้คนนอกขบวนการ หรือไม่นั้น ตอบได้ว่า “ทั้งต้องและไม่ต้องครับ” ทั้งใช่และไม่ใช่

    ที่ว่า “ต้อง/ใช่” นั้น ผมจะตอบแบบ Machiavillian นะครับ กล่าวคือ เพราะผู้คนจำนวนมากยังคำนึงถึงเรื่องศีลธรรมอย่างที่ bejued ว่านั่นแหละ ethic of consequence จึงต้องคำนึงถึงเรื่องหลักการหรือศีลธรรมครับ แต่เป็นในแง่ประสิทธิภาพอยู่ดี เพราะคำนึงในแง่ที่ว่าถ้าผู้นำ/นักการเมือง ไม่แสร้งทำเป็นมีศีลธรรมเสียแล้ว ย่อมไม่ได้รับการสนับสนุนและให้ความชอบธรรมจากเหล่าประชาชน ดังนั้น มือถืออะไรก็ว่ากันไป แต่ปากก็ต้องร่ายเรื่องความสงบสุข กฎระเบียบ ศีลธรรมจรรยา ฯลฯ

    ส่วนที่ว่า “ไม่ต้อง/ไม่ใช่” นั้น ก็เพราะว่า ถ้าคำนึงถึงศีลธรรมในแง่นี้แล้ว จริงๆก็คือ ไม่ได้คิดถึงมันในเชิงเนื้อหานั่นเอง (พูดภาษาหนุ่มสาว ก็คือ ไม่จริงใจ) เพราะคิดถึงเรื่องศีลธรรมแค่ในแง่สิ่งที่จะเกิดตามมา แต่ไม่ได้คิดถึงมันในเนื้อหา ทำความเข้าใจหรือพิจารณาหลักการหนึ่งๆอย่างลึกซึ้งครับ โหมดการเมืองแบบนี้ จะพิจารณาเนื้อหาเชิงลึกของหลักการ/ศีลธรรม ก็เฉพาะแต่เพื่อจะได้เข้าใจว่าประชาชนคิดอะไรกันอยู่ และต้องการแบบไหน ผู้นำ/นักการเมืองจะได้สามารถ “แสร้ง” ทำตัวเป็นเช่นนั้น หรือพูดหรือตอบคำถามเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆให้ดู “สมจริง” ได้เหมือนกับว่าเขาจริงใจกับเรื่องนั้นๆจริงๆครับ

    กล่าวโดยสรุปแล้วก็คือ ในแง่นี้ ประสิทธิภาพอยู่ลอยๆได้ครับ และแถมประสิทธิภาพยังกลืนกินศีลธรรมเข้ามาอยู่ภายในตัวมันเสียด้วยซ้ำ

    *************************

    ตอบคำถามที่ 2. “สันติวิธี” ก็เหมือนคำเก๋ๆ (เรียกให้ดูดีหน่อย ก็หลักการ/อุดมคติ ฯลฯ) คำอื่นอีกมากมายครับ ทั้ง “ประชาธิปไตย”, “ความเป็นธรรม”, “ความเท่าเทียม”, “ความเสมอภาค”, “ความถูกต้อง”, “อารยะ”, “การพัฒนา”, “ธรรมาภิบาล”, “ความจริง/สัจจธรรม”, “ความดี”, “ความงาม” หรือแม้แต่คำว่า “ศีลธรรม” คำต่างๆเหล่นี้ ล้วนมีการคิดถึงขั้นตอน/แบบแผนวิธีปฏิบัติเพื่อรองรับอย่างเป็นรูปธรรมทั้งนั้นครับ ส่วนเรื่องการป้องกันการบิดเบือนนั้น เราก็เห็นๆกันอยู่ว่าคำเหล่านี้ เมื่อหลุดออกจากหัวของนักคิดคนหนึ่ง ไปสู่สาธารณะ (หรือแม้กระทั่งไปสู่หัวนักคิดคนอื่นๆ) แล้ว ชะตากรรมของคำเหล่านี้ล้วนถูกเปลี่ยนรูปแปลงร่างจนหลายครั้งขัดแย้งกันเองเสียด้วยซ้ำ

    เรื่องความหมายที่ไม่มีใครผูกขาดได้นี้ เป็นทั้งแง่ดีและแง่เสียครับ ในแง่ดี คือ ถ้ามีใครซักคนผูกขาดว่าอะไรคือ “สันติวิธี” หรือคำอื่นๆขึ้นมาแล้ว การผูกขาดนั้นก็นำไปสู่ความรุนแรงมากมายมหาศาลในโลกนี้ตั้งแต่อดีตหลายพันปีมาแล้ว จนกระทั่งปัจจุบัน อย่างคำว่า “อารยะ” เป็นต้น หรือแม้แต่คำว่า “ความเป็นธรรม” ยังถูกนำมาใช้อ้างในการต่อสู้ปฏิวัติด้วยความรุนแรง ฆ่าคนอื่นๆมากมายเพื่อเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างเลยครับ นี่คือแง่ดีของการไม่มีใครผูกขาดคำเหล่านี้ได้อย่างเบ็ดเสร็จ

    ส่วนในแง่ไม่ค่อยดี ก็คือ คนใช้คำเหล่านี้ก็จะอ้าง/พลิกลิ้นเปลี่ยนแปลงไปได้เรื่อยๆ ตามสถานการณ์ และความสามารถในด้านตรรกะและการตีความของตน จึงดูแล้วกลายเป็นสิ่งลื่นไหล (หรือเหลวไหล) ไปหมดเลย

    อันที่จริง สังคมศาสตร์ทั้งสาขา รวมทั้งวิชาทางรัฐศาสตร์เอง ก็เผชิญปัญหาอย่างนี้มาตลอดนี่ครับ แม้แต่ในปรัชญาการเมืองเอง คำว่า “ความยุติธรรม” ของเพลโต กับของคนอื่นๆก็ไม่เหมือนกัน และถ้ายึดถือผูกขาดเอาเฉพาะนิยามเรื่องความยุติธรรมของเพลโตเพียงคนเดียว ก็อาจสุ่มเสี่ยงต่อการใช้ความรุนแรงต่อคนที่อายุเกิน 20 ปี (หรืออายุเท่าไหร่นะ จำไม่ได้ชัด) รวมทั้งคนที่ไม่อยู่ในสเปคของเพลโตอีกด้วย

    หรือแม้แต่คำว่า “พุทธ/คริสต์/อิสลาม ฯลฯ” ถ้าเกิดมีใครมาผูกขาดอยู่เจ้าเดียวว่าอะไรคือพุทธ/คริสต์/อิสลามแท้? อะไรคือพุทธ/คริสต์/อิสลามเทียม? ปั๊บ การใช้ความรุนแรงต่อสิ่งที่เราคิดว่าไม่ใช่พุทธ/คริสต์/อิสลามแท้ ก็อาจเกิดขึ้นได้ง่ายๆ ดังที่เราเห็นอยู่ทั่วไป

    ทั้งหมดนี้ จึงกลับมาตกอยู่ที่ว่าเราคงต้องมีนิยามที่ชัดเจนของคำต่างๆเหล่านี้ไว้ในใจเราระดับหนึ่งครับ แต่ว่าต้องไม่ชัดเจนและมั่นใจในตัวเองมากเกินไปจนกระทั่งไม่ฟัง ไม่สนใจ และถึงขั้นทำร้ายคนที่นิยามแตกต่างไปจากเรา

    “สันติวิธี” และคำต่างๆดังกล่าวนี้ ไม่ใช่แค่วิธีการในทางปฏิบัติอย่างเดียวอย่างแน่นอนครับ เป็นทั้งหลักคิดและวิธีการครับ แม้แต่สันติวิธีเชิงปฏิบัตินิยม ก็ยังมีหลักการของมันเลย หลักการนั้น คือ “ประสิทธิภาพ” นั่นเองครับ

    หลักการที่สำคัญและเป็นพื้นฐานร่วมที่สุดของ “สันติวิธี” ไม่ว่าจะสายไหนก็คือความหมายตรงๆในภาษาอังกฤษของมันเอง peacful means ครับ คือ ต้องใช้วิธีการเปลี่ยนแปลงโดยสันติครับ พูดให้ชัดเจนขึ้นในวงการสันติวิธี (เท่าที่ผมมีความรู้นะ) ก็คือ สันติวิธีขั้นต่ำสุด คือ จะต้องไม่มีความรุนแรงทางกายภาพ ส่วนจะมีความรุนแรงแบบอื่นหรือไม่ เช่น ความรุนแรงทางวาจา ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม ฯลฯ นั้น เป็นเรื่องต้องถกเถียงกันในสันติวิธีแต่ละสาย แต่ละสำนักครับ

    ผมพูดฝ่ายเดียวมากเกินไปแล้ว เชิญคนอื่นร่วมสนทนาบ้างครับ

    Like

  3. ขอร่วมสนทนาด้วยคนนะครับ
    ผมอ่านแล้วเกิดข้อสงสัยในสันติวิธีแบบที่ ๒ คล้ายกับที่คุณ bejude สงสัย โดยส่วนตัวผมเรียกว่าสันติวิธีแบบที่สองว่า สันติวิธีแบบพ่อค้า (ผมคิดเอาเองว่า สันติวิธี ๒ แบบ ที่ ชัย นำเสนอมาคือ ๑ สันติวิธีแบบนักพรต (แบบขันติธรรม-ซึ่งผมเข้าใจว่ามันต้องฝืนตัวเอง เช่น การรักได้แม้กระทั่งศัตรู, ยอมสละตนให้ผู้อื่นทำร้ายโดยที่ตัวเองไม่ยอมใช้ความรุนแรงตอบกลับ) ๒ สันติวิธีแบบพ่อค้า (แบบเล็งผลประโยชน์ทั้งเชิงประสิทธิภาพและประสิทธิผลเป็นหลัก) สันติวิธีชนิดนี้ตั้งอยู่บนฐานที่ว่าต้องปฏิบัติการได้จริง คาดการณ์ได้ และเห็นผล ผู้ใช้จึงจะตัดสินใจใช้มัน และที่สำคัญคือไม่ต้องฝืนตัวเอง โดยผมคิดว่าสันติวิธีแบบพ่อค้านี้สามารถเกิดขึ้นได้เพราะอาศัยพื้นฐานของแนวคิดเสรีนิยม ต่างกับสันติวิธีแบบนักพรตที่เกิดขึ้นภายใต้สภาวะที่ไร้เสรี (เช่น การตกเป็นอาณานิคม, การตกอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการ ฯลฯ)) ทั้งหมดนี้ผมฟุ้งไปเองนะครับอย่าไปถืออะไรมาก 🙂
    ผมลองตั้งคำถามว่า สันติวิธีแบบพ่อค้านั้นถือเป็นสันติวิธีได้จริงหรือไม่ คำตอบที่ได้คือ ถ้าเรานิยามสันติวิธีตามข้อ ๑ แล้ว สันติวิธีแบบพ่อค้าย่อมเป็นวิธีการหนึ่งที่จะนำไปลดหรือสลายความขัดแย้งได้จริง แต่ก็เกิดคำถามตามมาว่า
    ๑)หากเราใช้สันติวิธีแบบพ่อค้าแล้ว เราจะอยู่ร่วมกันในสังคมที่ไร้ซึ่งความจริงใจแต่เต็มไปด้วยสันติได้อย่างไร เพราะผู้ที่เลือกใช้วิธีนี้สามารถมี Political agenda อะไรบางอย่าง เพื่อให้ได้มาซึ่งอะไรบางอย่าง โดยที่ไม่ยอมเจ็บตัวหรือเอาตัวเข้าแลกกับอะไรทั้งสิ้น (ซึ่งความจริงแล้วสันติวิธีแบบนักพรตก็อาจมี agenda บางอย่างได้เช่นกัน แต่ก็จะถูกกำกับด้วยศีลธรรมเสมอ)
    ๒) การอ้างหรือเล็งไปที่ผลบางอย่างอาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งได้โดยที่ผลนั้นยังไม่ได้เกิดขึ้นเลย ตัวอย่างเช่น นักวิชาการบ้างท่านที่อ้างว่าเหตุการณ์ก่อนวันที่ 19 กันยา จะนำไปสู่ความรุนแรง (คาดการณ์/เล็งเห็นผล) แล้วนักวิชาการเหล่านั้นก็ปฏิบัติการอะไรบางอย่างออกมาในลักษณะยอมรับการรัฐประหารที่จะส่งผลให้ไม่เกิดความรุนแรง ในขณะที่นักวิชาการอีกส่วนหนึ่งมักใช้ข้ออ้างตรงนี้มาโต้แย้งว่า เป็นการจินตนาการ/ฟุ้งเฟ้อไปกันเอง ความขัดแย้งจึงเกิดขึ้นได้จากสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น เพราะเล็งเห็นผลไม่ตรงกัน
    ๓)กรณีของพันธมิตร หากเรามองว่าเป็นสันติวิธีแบบพ่อค้า แต่ถ้าคนแต่ละคนไม่ได้เล็งผลประโยชน์ร่วมกันแล้วจะถือได้ว่าเป็นขบวนการเคลื่อนไหวแบบสันติวิธีหรือไม่ ตัวอย่างเช่น แกนนำเล็งไปที่ผลบางอย่าง การ์ดเล็งไปที่ผลอีกอย่าง นักศึกษา-ผู้เข้าร่วม เล็งไปที่ผลอีกอย่าง แบบนี้จะถือเป็นสันติวิธีได้ไหมครับ

    ช่วงนี้ผมกำลังรีวิวงานของท่านพุทธทาสอยู่ครับ เพราะตัดสินใจจะทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับแนวคิดของท่าน ผมไปเจอคำว่าปกติสภาวะ ซึ่งท่านพุทธทาสบอกว่ามันคือสันติภาพ อันเป็นเป้าหมายของมนุษย์ คำว่าปกตินี่ตรงกับคำว่า ศีล ครับ ผมเลยมาคิดเอาเองว่า จริงๆ แล้วศีลนั้นแหละที่เป็นสันติวิธี (เป็นวิธีที่จะนำไปสู่สันติ) เช่น ศีล 5 (สำหรับปุถุชน) เราไม่ฆ่า เราไม่พูดโกหก ส่อเสียด หรือ ยุแหย่ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ผิดลูกเมืยของคนอื่น ไม่ปล่อยสติให้ขาดไปกับสิ่งมอมเมา มันก็อาจจะเพียงพอกับการสร้างสันติ หรือ สภาวะปกติ ได้เหมือนกัน (นี่อาจจะเป็นการสร้างสันติวิธีที่ตัวบุคคล ส่วนในระดับโครงสร้างของสังคม ท่านพุทธทาสพูดถึงประชาธิปไตยที่มีเมตตา ส่วนในระดับวัฒนธรรม ท่านต่อต้านระบบทุนนิยมและวัตถุนิยมครับ เพราะท่านเห็นว่าจะนำไปสู่ความรุนแรง ปล.ตอนนี้ผมยังไม่สามารถอธิบายได้มากครับ เพราะกำลังอ่านอยู่ ถ้าผมรีวิวงานเสร็จแล้ว จะมาแลกเปลี่ยนกันอีกครั้งนะครับ)

    Like

  4. เน ยินดีที่มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันครับ และขออภัยที่ตอบช้านะครับ พอดีพลังถูกผันไปทำกิจธุระอื่นอยู่พอดี ในช่วง 2 วันที่ผ่านมานี้ ตอนนี้ มีพลังเพียงพอที่จะตอบเนแล้วครับ (แต่รู้สึก จะตอบเยอะไปหน่อย ผมจะค่อยๆ post ตอบที่ละคำถามละกันนะครับ จะได้ไม่งง)

    ตอบคำถามข้อหนึ่ง
    ===========
    เป็นคำถามที่ดีครับ เน และทำให้ผมต้องทำการบ้านขึ้นอีกหน่อย เพื่อให้มีข้อมูลนิดหน่อยมาตอบครับ คำถามนี้ มี 2 ประเด็นย่อย

    ตอบเรื่อง “การมี political agenda อะไรบางอย่าง เพื่อให้ได้มาซึ่งอะไรบางอย่าง โดยไม่ยอมเจ็บตัวหรือเอาตัวเข้าแลก” ก่อน

    สันติวิธีเชิงปฏิบัตินิยมนั้น หลายกรณีต้องเผชิญกับการปราบปรามอย่างป่าเถื่อนจากฝ่ายรัฐนะครับ ไม่ใช่ว่า เห็นได้จาก (

    1) ในเชิงทฤษฎี ที่ Sharp ย้ำว่าต้องมี “วินัยไร้ความรุนแรง” (nonviolent discipline) ยืนหยัดยึดมั่นที่จะไม่ใช้ความรุนแรงโต้ตอบ เพราะจะทำให้ฝ่ายตนเสียความชอบธรรม

    และเห็นได้จาก (2) ขบวนการ nonviolent action ในหลายๆประเทศที่เคลื่อนด้วยตรรกะนี้ก็ถูกปราบปรามอย่างรุนแรงเยอะ อย่างในแถบยุโรปตะวันออก ซึ่งรับอิทธิพลงานของ Sharp ไปเยอะ เช่นขบวนการเยาวชน Otpor ที่ล้ม Milosevic เมื่อปี 2000 ใน Serbia (ดูหนังได้เรื่อง Bring Down a Dictator) ก็ถูกจับเกือบ 2,000 คน นอกจากนี้ ขบวนการเยาวชน Pora ในยูเครนปี 2004 ล้มรัฐบาลยูเครน และขบวนการ Zubr ใน ฺBelarus ต่อต้านประธานาธิบดี ก็ล้วนถูกคุกคามและถูกจับจากตำรวจ และ KGB ในกรณี Zubr ด้วยเช่นกัน ทั้งสามขบวนการ (คือ Otpor, Pora, และ Zubr กล่าวได้ว่าได้รับอิทธิพลโดยตรงจากงานเขียนของ Gene Sharp. Otpor นี่ เข้าใจว่าผู้นำเยาวชนได้เข้า train โดยตรงกับ Sharp เลยด้วยซ้ำ ส่วนสองขบวนการหลังนั้น ได้ Otpor มาเป็นพี่เลี้ยงให้อีกทีหนึ่ง (กรณีเหล่านี้ ผมยังไม่รู้มากนัก หลังตอบเน ผมคงต้องศึกษากรณีเหล่านี้เพิ่มขึ้น)

    ส่วนเรื่อง “เราจะอยู่สนสังคมที่ไร้ความจริงใจ แต่เต็มไปด้วยสันติ ได้อย่างไร?” นั้น ตอบได้ 3-4 แบบ ดังนี้ครับ

    1. แบบแรก ต้องคิดจากฐานความเข้าใจว่า ทฤษฎีของ Gene Sharp นั้น พัฒนาขึ้นมาจากทฤษฎีสงคราม (น่าแปลกมะ?) Sharp ได้ชื่อว่าเป็น Nonviolent Clausewitz เลยทีเดียว เพราะฉะนั้น ทฤษฎีของเขาจึงเต็มไปด้วยการวิเคราะห์สถานการณ์ การวางแผนยุทธศาสตร์และการใช้ tactic มากมายในการเคลื่อนไหวเพื่อให้ได้ชัยชนะโดยไม่ใช้ความรุนแรงทางกายภาพ ดังนั้น จึงกล่าวได้ระดับหนึ่ง ตรงนี้ว่าทฤษฎีนี้ไม่ได้ใช้ในภาวะสังคมปกติ แต่เป็นภาวะที่กำลังต้องการการเปลี่ยนแปลงครับ

    2. ตอบแบบที่สอง ถ้าถามต่อว่า หลังจากเปลี่ยนแปลงสำเร็จแล้ว แล้วไงต่อ? สังคมจะอยู่ร่วมกันต่อไปยังไง? (จริงๆ ผมคิดว่า ตรงนี้เป็นจุดอ่อนประการหนึ่งของขบวนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมทั่วโลกเลยนะครับ รวมทั้งขบวนการปฏิบัติการไร้ความรุนแรงด้วย ที่เมื่อเปลี่ยนแปลงแล้ว จะรักษาให้ระบบสังคมการเมืองไม่กลับไปสู่ความฉ้อฉลในแบบเดิมหรือแบบใหม่ก็แล้วแต่ นั้น เป็นเรื่องที่ตกม้าตายกันมาหลาย case แล้ว)

    ผมไม่แน่ใจว่า Sharp ได้มีพูดไว้ตรงไหนชัดๆหรือไ่ม่ว่าสังคมในอุดมคติของเขาเป็นอย่างไร เพราะยังอ่านไม่เจอ แต่ผมเท่าที่เข้าใจเอาเองจากฐานทฤษฎีอำนาจของ Sharp ที่ว่า “อำนาจของผู้ปกครองไม่ได้ดำรงอยู่ได้ลอยๆในตัวเองแล้วบังคับกดข่มลงมาที่ผู้ถูกปกครอง หากแต่อำนาจของผู้ปกครองนั้นอยู่ได้เพราะการสนับสนุนค้ำจุนและให้ความยินยอม (หรือให้ความชอบธรรม ถ้าพูดภาษาสมัยนี้) จากผู้ถูกปกครอง ดังนั้น จะควบคุมผู้ปกครองหรือเปลี่ยนแปลงผู้ปกครองได้โดยไม่ใช้ความรุนแรง ก็สามารถทำได้ โดยการเพิกถอนความยินยอมนั่นเอง ในขณะที่ผู้ปกครองก็พยายามจะ manipulate อำนาจย่อยต่างๆให้มารวมศูนย์สนับสนุนตนเอง” ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า สังคมในอุดมคติของ Sharp น่าจะเป็นสังคมที่อำนาจกระจายไปอยู่่ที่ผู้ถูกปกครองมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ครับ

    อันนี้ ก็มาเข้ากับทฤษฎีประชาธิปไตยสายเสรีนิยมที่ พยายามทำให้อำนาจกระจายมากที่สุดจนไม่มีใครสามารถใช้อำนาจทำร้ายใครได้ง่ายๆ ไม่ว่าเขาจะจริงใจหรือไม่จริงใจกับคนนั้นก็ตาม จริงๆแล้ว นอกจากทฤษฎีกระจายอำนาจแล้ว ทฤษฎี check & balance ก็เป็นอีกทฤษฎีหนึ่งที่ไม่ได้เน้นความจริงใจของสังคมเหมือนกันใช่ไหมครับ แต่เน้นที่ให้มีการตรวจสอบคานอำนาจซึ่งกันและกัน เพื่อไม่ให้มีใครคนใดคนหนึ่งหรือองค์กรใดองค์กรหนึ่ง มีอำนาจมากเกินไป จนอาจกลายเป็น authoritarian ขึ้นมาได้ (ช่วยตรวจสอบทฤษฎีประชาธิปไตยของผมด้วยนะครับ ว่าถูกต้องหรือไม่ เผื่อมั่วหรือพร่าบางจุด!!)

    3. ตอบแบบที่สาม แบบใจนักเลงหน่อยๆ แต่อันนี้ นอกทฤษฎีสันติวิธีเชิงปฏิบัตินิยม หรือ nonviolent action แล้วนะครับ มาใช้แนวคิด tolerance แทน เช่น นาย ก. ก็ไม่ได้หวังดีหรือจริงใจอะไรกับเอ็งมากมายกับ นาย ข. นักหรอก แต่ก็รู้ว่าจะต้องอยู่ในประเทศไทยด้วยกันต่อไปอย่างงี้แหละ และจำเป็นต้องยอมรับความเห็นต่างในลักษณะ “ทนกันได้” เพราะนาย ข. ก็ไม่ได้ทำเรื่องเลวร้ายถึงขนาดจะมาฆ่าแกงนาย ก. หรืออาจเป็นเพราะนาย ก.ไม่ได้ีมีอำนาจอภิสิทธิ์อะไรจะไปซี้ซั้วหาเรื่องนาย ข. ได้ เป็นต้น

    4. ตอบแบบที่สี่ กลับมาเปรียบเทียบกับการเป็นพ่อค้า (แบบที่เนว่า) ซึ่งยึดถืออรรถประโยชน์นิยม เพียงแต่อรรถประโยชน์นิยม (ที่ผมเคยอ่านเจอมา) มีอย่างน้อย 2 แบบ คือ

    (1) อรรถประโยชน์นิยมอย่างแคบ ซึ่งก็เข้าใจๆกันอยู่ ว่าพ่อค้าจะทำอะไรก็เพื่อให้ได้กำไรสูงสุดไว้ก่อน ไม่ว่าจะกดค่าแรง ทำลายสิ่งแวดล้อม ฯลฯ

    (2) อรรถประโยชน์นิยมแบบกว้าง คือ ไม่เห็นว่ากำไรเป็นเรื่องแค่นั้น เพราะถ้ากดค่าแรงคนงานมากๆ วันหนึ่งเกิดคนงานทำร้ายเถ้าแก่ขึ้นมา จะทำยังไง ดังนั้นจึงต้องให้ความเป็นธรรมอย่างสมน้ำสมเนื้อแก่คนงาน หรือถ้าพ่อค้าเอาเปรียบธรรมชาติ ปล่อยของเสียลงในแม่น้ำมากๆ เกิดวันหนึ่ง ลุ่มน้ำทั้งลุ่มน้ำเน่าเสียขึ้นมาจะทำอย่างไร เดือดร้อนกันหนักไปใหญ่ ต้องไปล็อบบี้ให้เกิดโครงการผันน้ำจากที่นั่นมาที่นี่ ฯลฯ วุ่นวายไปหมด ดังนั้น แม้ว่าพ่อค้าจะไม่ได้จริงใจอะไรมากมายกับลูกจ้างและสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ แต่ก็รู้ว่าเอาเปรียบขูดรีดมากเกินไปไม่ได้เช่นกัน ต้องอยู่ร่วมกันอย่างมีสันติในระดับหนึ่ง

    Like

  5. ตอบคำถามข้อสอง
    ===========
    ข้อนี้ไ่ม่แน่ใจว่าเนจะถามว่าอะไรครับ แต่ถ้าจะถามว่าการเล็งเห็นผลไม่ตรงกัน (ตามตรรกะของทฤษฎีสันติวิธีปฏิบัตินิยม) แล้ว จะทำให้คนขัดแย้งกันจากสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น ผมคงตอบว่า

    1. มนุษย์เรามันก็ขัดแย้งกันกับเรื่องที่เห็นไม่ตรงกันทั้งนั้นอยู่แ้ล้วนี่ครับ ไม่ว่าจะเล็งไปข้างหน้าในอนาคต หรือเล็งไปข้างหลังในอดีต

    2. อันนี้เป็นพื้นฐานความเข้าใจเรื่องความขัดแย้งอีกอันหนึ่งที่สำคัญครับ คือ เรามักนึกว่าความขัดแย้งเป็นเรื่องไม่ดี และต้องขจัดทิ้ง ในขณะที่สาย conflict studies ยุคหลัง จะบอกว่า จริงๆแล้ว ความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ ไม่มีทางที่จะขจัดทิ้งได้ ประเด็นสำคัญจริงๆอยู่ที่ว่า เมื่อขัดแย้งขึ้นมาแล้ว จะจัดการหาทางออกหรือเปลี่ยนรูปความขัดแย้งได้อย่างไร ใ้ห้เกิดผลอันสร้างสรรค์ โดยไม่ใช้ความรุนแรงเข้าห้ำหั่นกัน และทั้งหมดนี้ ก็คือส่วนหนึ่ง ของประชาธิปไตยนี่ครับ ที่ให้ที่ให้ทางคนได้มาถกเถียงความต่างกันได้อย่างอารยะ ไม่ฆ่ากัน

    โดยนัยนี้ จึงกล่าวได้ว่านักวิชาการที่เห็นไม่ตรงกันว่าความรุนแรงกำลังจะเกิดขึ้นจริงๆหรือไม่นั้น ก็ทำถูกแล้ว ที่เถียงกันคอเป็นเอ็น หน้าดำหน้าแดงเลย แต่ไม่ยอมใช้ความรุนแรงเข้าห้ำหั่นกัน ผลก็คือ เราได้เรียนรู้มากมายและได้เห็นแง่มุมต่างๆทางในวิชารัฐศาสตร์และปรัชญาการเมือง เต็มไปหมดเลยจากการเถียงกันของนักวิชาการในกรณีนี้

    ตอบคำถามข้อสาม
    ===========
    จริงๆแล้ว ผมไม่ชอบเลยนะ มานั่งเรียกว่า เป็นหรือไม่เป็นสันติวิธี หรือเอา concept มานั่งทาบเป็นไม้บรรทัดวัดว่าอะไรเป็นหรือไม่เป็นอะไร? ผมจะชอบมากกว่าที่จะบอกว่า สิ่งนี้เป็นสิ่งนั้น แล้วมันทำให้เกิดอะไรขึ้น (เช่น แบบที่เขียนในบทความนี้ ก็เพื่อจะชี้ให้เห็นว่า พธม.ถ้าจะเป็นสันติวิธี เขาเป็นสันติวิธีแบบไหน เพื่อให้เราเห็นว่ากระบวนการทำงานและการเคลื่อนไหวของเขาเป็นอย่างไร และเขาจะกลับเข้าสู่โหมดปฏิบัติการไร้ความรุนแรงดังเดิม ได้หรือไม่? อย่างไร?) หรือทำให้เราเห็นอะไรมากขึ้น (เช่น เมื่อเห็นแล้วว่าเขาเป็นสันติวิธีในโหมดนี้ และมีกระบวนการทำงานแบบนี้ เราจะปฏิบัติต่อเขาอย่างไร? จะตักเตือน สั่งสอน กดดัน ฯลฯ เขาอย่างไร? หรือมีอะไรต้องทำในประเด็นอื่นๆที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาของเขา หรือของคนอื่นที่จะกระทบมาที่ตัวเขาอย่างไร) มากกว่า ไม่งั้นเรากลายเป็น “ผู้คุ้มกฎ” แทน ไม่พาเราไปไหน

    แต่ถ้าให้ตอบจริงๆ ข้อนี้ ผมไม่แน่ใจว่าเนถามในแง่เป็น “ขบวนการ”หรือในแง่ “สันติวิธี” ถ้าถามในแง่ “สันติวิธี” ตอบอย่างง่าย แบบมาตรฐานขั้นต่ำสุดของสันติวิธี (คือ ไม่มีความรุนแรงทางกายภาพเกิดขึ้น) แล้ว การเล็งผลที่แตกต่างกัน ก็ไ่ม่น่าจะนำไปสู่การทำให้ขบวนการนั้นหันมาใช้ความรุนแรงทางกายภาพได้นะครับ

    แต่ถ้าคำถามนี้ เป็นไปในแง่ “ขบวนการ” แล้ว ผมคิดว่าเล็งผลประโยชน์ต่างกัน ถ้าต่างกันในระดับปัจเจกบุคคล เช่น ผู้เข้าร่วม อาจอยากมาหาประสบการณ์ หรือเก็บข้อมูลวิจัย การ์ดเล็งผลอีกอย่าง และผู้นำแต่ละคนเล็งผลส่วนตัวอีกแบบ เรื่องเหล่านี้คงไม่เป็นไรเท่าไหร่ ตราบใดที่ไม่กระทบยุทธศาสตร์ใหญ่ที่จะบีบบังคับ (โดยไม่ใช้ความรุนแรง) ให้ฝ่ายตรงข้ามอยู่ในสถานการณ์ที่ในที่สุดต้องจำยอมตามข้อเรียกร้องของขบวนการ

    Like

  6. แลกเปลี่ยนเรื่องท่านพุทธทาส
    ==================
    “ศีล” อาจมองเป็นสันติวิธีได้ แต่เป็นในระดับกว้างขวางมาก ไม่ใช่เฉพาะระดับปฏิบัติการอย่างเดียว ถ้าให้ชัดเจน น่าจะบอกว่า “ศีล” เป็นกติกากำกับการอยู่ร่วมกันอย่างสันติของมนุษย์จะมากกว่าครับ และถ้าคนทำปฏิบัติตามศีล 5 อย่างเคร่งครัดจริงๆ เมื่อเกิดความขัดแย้งกันขึ้นมา ก็ดูจะไม่ทำให้ความขัดแย้งลุกลามใหญ่โตอะไรมากมาย และกลายเป็นความรุนแรงได้ครับ เพราะศีล 5 กำกับไว้ทั้งหมด ทั้งความรุนแรงทางกายภาพ ทางวาจา และทางใจ/ทางวัฒนธรรมเลยทีเดียว

    จริงๆผมชอบ “ศีล 5” มากเลยนะครับ ถ้าเราประยุกต์ให้เข้ายุคสมัยดีๆ แบบที่ท่านพุทธทาสพยายามจะทำอยู่ จะมองเห็นอะไรมากมายหลายอย่าง เอาไว้ว่างๆคุยกันเรื่องที่เนทำเกี่ยวกับความคิดของท่านพุทธทาสนะครับ นอกจากนี้ เล่าเรื่อง “ประชาธิปไตยที่มีเมตตา” ของท่านพุทธทาสให้ฟังหน่อยสิครับว่าเป็นไง หรือหาอ่านได้ที่ไหน? ผมได้บทความ “ประชาธิปไตยที่มีหัวใจ” ของอ.มารคมานานแล้วยังไม่ได้อ่านเลย เดี๋ยวต้องลองไปอ่านซะหน่อย

    ไม่รู้เนเคยเห็น การตีความ “ศีล 5” ให้ร่วมสมัยของ หลวงปู่ติช นัท ฮันห์ พระสายเซนเวียดนามอีกท่านหนึ่ง ตีความศีล 5 ไว้ได้ครอบคลุมกว้างชวางและร่วมสมัยมาก น่าสนใจเช่นกันครับ ไปดูที่ http://www.thaiplumvillage.org/plum_practice_5mindfulness_trainings.html นะครับ

    Like

  7. ข้างล่างนี้ เป็นอีกหนึ่งชุดคำถามที่สืบเนื่องจากบทความนี้ครับ ผู้เขียนถามผมมาทางอีเมลล์ และผมตอบไปแล้วเมื่อวันก่อน (ทำให้ไม่มีแรงมาตอบคำถาม เน ครับ) 🙂 ผมเลยขออนุญาตเจ้าของคำถาม เอามา post ไว้ในที่นี้ด้วย เผื่อจะได้อ่านและแลกเปลี่ยนความเห็นกันต่อได้ครับ
    ======================================
    ไม่ได้คุยกันนาน มีเคำถามสนุกๆมาให้ขบครับ

    1. ยกตัวอย่างกรณีหนึ่ง อันนี้มา ว่า สมมติว่าเรามีวาจาอันอ่อนหวานมาก เลยไปเจรจาเอาขนมจากเด็กมากิอน และเด็กก็ยกให้เราอย่างไม่ขัดใจ นอกจากนี้เด็กยังรู้สึกดีที่ได้แบ่งให้คนอย่างเราด้วย ในเมื่อยอมรับกันทุกฝ่าย กรณีเช่นนี้เรียกว่าสันติวิธีได้ไหมครับ อีกนัยหนึ่ง สันติวิธีแบบไร้สัจจะมีหรือไม่

    2. การสานเสวนาจะนำเราเข้าสู่สัจจะ (truth) ได้หรือไม่ นั่นคือ สัจจะประนีประนอมได้หรือไม่ กรณีเช่น ถ้าเกิดว่าเราเอาคนในห้องแลบเคมีมาตั้งวงเสวนากัน แล้วกลางวงเราก็เอาสาร ก มาผสมกับ สาร ข แล้วได้สาร ค เป็นสีเขียว แบบนี้ยังจะมีอะไรต้องมาสานเสวนากันหรือไม่ อีกนัยหนึ่ง ผมต้องการจะชี้ว่า การสานเสวนาเชื่อว่าความหมายอยู่ใน “สังคม” แต่ในความเป็นจริงนั้นความ หมายอยู่ใน “ธรรมชาติ” ได้หรือไม่ ซึ่งเราจะเถียงได้ยาก นั่นคือสัจจะไม่ประนีประนอม คำถามนี้เหมือนกับจะถามว่า ถ้าเกิดหลักฐานมันฟ้องผิดถูกแน่นอนแล้ว เีรายังจะต้องมาสานเสวนากันหรือไม่

    3. จริงๆแล้วนักวิชาการควรจะพิจารณาอย่างใดกันแน่ ระหว่าง (ก) ขบวนการใดเป็นสันติวิธีหรือไม่ หรือ (ข) ขบวนการนั้นอ้างความเป็นสันติวิธีอย่างไร เพราะ (ก) จะเป็นการตัดสินของเรานักวิชาการ แต่ (ข) จะเป็นการทำความเข้าใจจากมุมมอง ของ actor ในสถานการณ์นั้น คำถามนี้เหมือนจะถามเรื่อง approach ของนักสันติวิธี ว่าเราควรจะเป็น (ก) เชื่อว่าเราสร้างเกณฑ์ตัดสินได้ หนือ (ข) เราควรเป็นแบบปรากฏการณ์นิยมที่ว่าพยายามเข้าใจความหมายจริงที่เกิดจากการประกอบสร้าง

    4. อันนี้คล้ายๆกับข้อที่แล้ว ถ้าเราอยากจะเทียบอหิงสาของคานธี ที่ว่าใช้ความกว้าและขันติเข้าหาสัจจะ กับปรัชญาตะวันตก เราควรจะมองมันเป็นแบบใด ระหว่าง (ก) เป็นการเข้าถึงสัจจะแบบเพลโต หรือ (ข) เป็นการเคลื่อนไหวเพื่อสร้างแนวร่วมเพื่อ construct ความจริง ตามแบบ Bruno Latour (ค) หรือจะมองแบบอื่นก็ได้นะครับ

    คำถามมันกึ่งๆปรัชญากึ่งความเป็นจริงนะครับ ตั้งมาเพราะข้องใจเรื่องพวกนี้จริงจัง และต้องการแลกเปลี่ยนครับ

    Like

  8. และข้างล่างนี้ คือ คำตอบของผม ต่อคำถามทั้งสี่ข้อ ที่เอามา post ใน comment ก่อนหน้านี้ครับ
    ==================================
    ตอบข้อหนึ่ง
    ======
    1. สันติวิธีมีมาตรฐานขั้นต่ำสุดของมัน (เหมือนกับประชาธิปไตยที่มีขั้นต่ำ สุดของมัน คือ การเลือกตั้ง) คือ ไม่มีความรุนแรงทางกายภาพครับ ดังนั้น กรณีตัวอย่างที่ยกมา ถ้าตอบด้วยมาตรฐานขั้นต่ำสุด ก็ต้องตอบว่าเป็นสันติวิธีครับ เพราะไม่มีความรุนแรงทางกายภาพเกิดขึ้น แต่จะเป็นสันติวิธีในขั้นที่สูงกว่านั้นหรือไม่ เช่น ไม่มีความรุนแรงทางโครงสร้างและทางวัฒนธรรม ฯลฯ เป็นต้น นั้น ต้องพิจารณาถกเถียงกันในรายละเอียดต่อไปครับ

    และด้วยมาตรฐานขั้นนี้ รวมทั้งแนวคิดสันติวิธีเชิงปฏิบัตินิยม จึงตอบคำถามพ่วงท้ายได้เช่นกันว่า “สันติวิธีแบบไร้สัจจะ” ก็น่าจะมีครับ เพราะสันติวิธีเชิงปฏิบัตินิยม ยืนอยู่บนวิธีคิดแบบ Machiavillian

    ตอบข้อสอง
    =======
    2. ผมไม่ถนัดแนวคิดเรื่องสานเสวนาครับ ลองอ่านบทความของ อ.ปาริชาด ที่ลงในมติชน วันที่ 4 พ.ย. ดูนะครับ
    http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01act02041151&sectionid=0130&day=2008-11-04

    แต่ในที่นี้ ผมตอบได้ (จากบทความ) ว่า “สานเสวนาไม่ประนีประนอม” ครับ และสำหรับผม ถ้าหลักฐานมันฟ้องผิดถูกอยู่แน่แท้แล้ว ก็ต้องว่ากันไปตามหลักฐานครับ แต่ผมคิดว่า (จากฐานที่ยังไม่ได้อ่านและคิดกับบทความของ อ.ปาริชาด ละเอียดนัก แต่ผมใช้ฐานคิดจากเรื่องยุติธรรมสมานฉันท์ครับ) เราก็ยังต้องมาสานเสวนากันอยู่ดี เพียงแต่ว่าประเด็นคุยไม่ใช่เรื่องใครผิดใครถูก แต่อาจเป็นเรื่องแต่ละฝ่ายจะวางท่าทีต่อความผิดความถูกนี้อย่างไร? เช่น ฝ่ายผิดยังจะแค้นต่อไหม แม้ว่าศาลจะตัดสินแล้วว่าผิดจริงๆ? ฝ่ายถูกจะสะใจต่อไปหรือไม่ หรือจะมีท่าทีอย่างไร? สิ่งเหล่านี้มีผลต่อความเป็นไปของสังคมและของทั้งสองฝ่ายหลังการตัดสินผิดถูกตามกระบวนการศาลแล้วครับ

    ส่วนคำถามที่ว่าความจริงอยู่ในสังคม หรือในธรรมชาติ มาถึงตรงจุดนี้ ผมไม่ค่อยแน่ใจนัก ว่าเราจะแยกความจริงทางสังคมกับความจริงทางธรรมชาติได้จริงๆล่ะหรือ?

    ตอบข้อสาม
    ======
    3. ตอบเบื้องต้นว่าต้องทำทั้งสองอย่างครับ นักวิชาการ (ในความหมายของทั้งวงการ ไม่ได้เฉพาะแค่คนใดคนหนึ่ง) ไม่ควรยึดบทบาทไว้เพียงกับแนวทางใดแนวทางหนึ่งเท่านั้น

    จริงๆแล้ว ผมไม่ชอบเท่าไหร่นักหรอก ที่จะบอกว่าอะไร “เป็น” หรือ “ไม่เป็น” ไอ้นั่นไอ้นี่ (และไม่ค่อยพึงใจนักที่ทำตัวเป็นเจ้าข้าวเจ้าของคำบางคำ) แต่คิดว่าบางทีก็จำเป็นต้องพูดครับ (แม้ว่าจะถูกหาว่าเป็นนักนั่นนักนี่ก็ตาม) ว่าในความคิดเห็นและความรู้เท่าที่เรามี และตามเกณฑ์วินิจฉัยของตัวเราเองนั้น เห็นว่า สิ่งนั้น “เป็น” อะไร และเป็นอย่างไร? แต่ข้อสำคัญ คือ ผู้พูดและผู้ฟัง จะต้องไม่ยึดถือสิ่งที่กล่าว/วินิจฉัยออกมานั้นว่าเป็นสัจจะสัมบูรณ์

    นอกจากนี้ การที่ผมเสนอว่านั่นนี่เป็นสันติวิธีหรือไม่ ไม่ได้ต้องการจะเป็นผู้พิพากษาครับ แต่ต้องการให้ข้อวินิจฉัยของตัวเอง มี implication ต่อครับ ว่าเอาล่ะ เมื่อสิ่งนั้นเป็น/ไม่เป็นสันติวิธีในความหมายแบบ 1 หรือแบบ 2 แล้ว เราควรจะทำอย่างไรกันต่อไป ซึ่งผมก็เสนอไปแล้วกับคนที่ (ผมคิดว่า) ยืนอยู่บทจุดยืนสันติวิธีทั้งสองแบบ ว่าน่าจะทำอะไรกันต่อ

    สำหรับแนวการทำความเข้าใจแบบ (ข) ก็สำคัญและควรทำครับ เพราะกับดักที่แนวทางแบบ (ก) ต้องระวังอย่าง (และผมก็พยายามอยู่ แต่ไม่รู้ตกลงไปรึยัง) คือ ต้องไม่ยึดติดต่อข้อวินิจฉัยและความเข้าใจของตัวเราคนเดียว แต่ต้องเข้าใจปรากฏการณ์นั้นๆจากมุมมองของคนอื่นด้วยเช่นกัน เพราะไม่่เช่นนั้น เราก็จะไม่สามารถเข้าใจคนที่มาร่วมกับพันธมิตรฯได้ แต่ที่สำคัญ (ของทั้งแนว (ก) และ (ข)) คือ หลังจากใช้แนวการวิเคราะห์ของตนแล้ว ต้องตอบคำถามต่อไปด้วยว่า so what?

    เพียงแต่ว่าในกรณีนี้ ผมเลือกที่จะทำในแนวทาง (ก) เพราะผมพอจะทำได้ ส่วนแนวทาง (ข) นั้น ต้องไว้วันหลังเมื่อโอกาสอำนวย หรือไม่ก็ต้องรอคนอื่นทำแทนครับ

    ตอบข้อสี่
    ======
    4. ผมไม่แน่ใจว่าสัจจะแบบเพลโตเป็นอย่างไรครับ แต่คำถามนี้ ผมตอบจากฐานแนวคิดของคานธี และผสมกับของตัวเอง คือ เราคงต้อง deal กับสัจจะอย่างน้อยสองแบบไปพร้อมๆกัน (และอาจมีมากกว่านั้น) คือ สัจจะสัมบูรณ์ กับสัจจะสัมพัทธ์ สำหรับผม เราคงต้องพยายามเข้าไปหาสัจจะสัมบูรณ์ แต่ในขณะเดียวกัน ก็จำเป็นต้องรู้ว่าสัจจะสัมบูรณ์ไม่อาจเข้าถึงได้ง่ายๆหรืออาจเป็นไปไม่ได้เลยด้วยซ้ำ ด้วยกายและจิตของเราในโลกนี้ (แต่ก็ยังจำเป็นต้องพยาายามต่อไป) และเรายังจำเป็นต้อง “อยู่้กับ” สัจจะสัมพัทธ์บนโลกนี้ โดยมองเห็นคุณค่าของสัจจะสัมพัทธ์ (รวมถึงความจริงที่เกิดจากการเคลื่อนไหวเพื่อสร้างแนวร่วมในการ construct กันขึ้นมา ของฺ Bruno Latour ด้วย) ในฐานะที่ช่วยให้เราค่อยๆก้าวขึ้นไปสู่สัจจะสัมบูรณ์ไำด้ครับ

    โดยสรุปแล้ว คำตอบทั้งสี่ข้อ ผมตอบจากฐานคิดของผมเองที่ว่า เราต้ัองมี judgement ของเราเพื่อให้รู้ว่าอะไรผิด อะไรถูก แต่เราต้องไม่ยึดติดกอดแน่นอยู่ใน judgement ของเราเพียงเท่านนั้น เพราะเราไม่สมบูรณ์ ดังนั้น จึงต้องอาศัยข้อวินิจฉัยและ “ความจริง” ของคนอื่นๆด้วย เพื่อที่จะช่วยกันก้าวสูงขึ้นไปโอบรับสัจจะในโลกนี้ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยครบถ้วนมากเท่าที่ทำได้ครับ

    Like

Leave a comment