อำนาจเชิงโครงสร้างของระบบเทคโนโลยี : ศึกษากรณีอินเทอร์เน็ตไทย ช่วงก่อนรัฐประหาร 2549

[download PDF]

นำเสนอใน การประชุมรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์แห่งชาติ ครั้งที่ 11 ณ วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เมื่อวันที่ 25-26 พฤศจิกายน 2553

บทคัดย่อ

ในทุกๆสังคม เทคโนโลยีที่ข้องเกี่ยวกับความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวันของคนในสังคมอย่างมากนั้น มักไม่ได้ปราศจากมิติทางการเมืองและอำนาจ อำนาจที่แฝงฝังอยู่ในโครงสร้างของระบบเทคโนโลยีมีผลในการกำหนดรูปลักษณ์กิจกรรมของมนุษย์ทั้งสิ้น โดยเฉพาะกิจกรรมทางการเมือง กระนั้น งานวิจัยทางสังคมศาสตร์และรัฐศาสตร์ไทยที่ศึกษาเรื่องนี้มีน้อยมาก

งานวิจัยชิ้นนี้ศึกษาอำนาจเชิงโครงสร้างของระบบเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตไทย โดยศึกษาประวัติศาสตร์การพัฒนา ตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษที่ 2530 ซึ่งเป็นช่วงที่อินเทอร์เน็ตไทยเพิ่งเริ่มพัฒนาขึ้น มาสิ้นสุดที่เหตุการณ์รัฐประหารเดือนกันยายน 2549 ซึ่งรายล้อมด้วยเหตุการณ์สำคัญ 2 ประการ

(1) การที่อินเทอร์เน็ตไทยมีส่วนสำคัญอย่างมากในเหตุการณ์ขับไล่รัฐบาลทักษิณนับตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา

2) การเกิดขึ้นของ พรบ.การกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ซึ่งถือเป็นจุดตัดที่สำคัญยิ่งที่ทำให้อำนาจเชิงโครงสร้างของอินเทอร์เน็ตเปลี่ยนไปอย่างมาก วิธีวิจัยประกอบด้วยการศึกษาเอกสารทั้งชั้นต้นและชั้นรอง รวมทั้งการสัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้อง

งานชิ้นนี้ศึกษาโครงสร้างอินเทอร์เน็ตไทย ในลักษณะเมทริกซ์เทคโนโลยีกับอำนาจ เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตแบ่งเป็น 3 ชั้น (แถว) คือ ชั้นโครงข่ายพื้นฐาน ชั้นการให้บริการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต และชั้นเนื้อหาอินเทอร์เน็ต อำนาจเชิงโครงสร้างของอินเทอร์เน็ตถูกพิจารณาผ่าน 3 มิติ (คอลัมน์) คือ มิติเชิงโครงสร้างเทคโนโลยี มิติเชิงการเป็นเจ้าของหรือการเข้าถึง และมิติเชิงสถาบัน

จากกรอบการศึกษาดังกล่าว งานชิ้นนี้ค้นพบว่า ในมิติเชิงโครงสร้างเทคโนโลยีและมิติเชิงการเป็นเจ้าของ/การเข้าถึงแล้ว อินเทอร์เน็ตในชั้นเนื้อหามีลักษณะการรวมศูนย์และผูกขาดน้อยที่สุด ชั้นการให้บริการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมีการรวมศูนย์ผูกขาดมากขึ้น ในขณะที่ชั้นโครงข่ายพื้นฐานมีการรวมศูนย์ผูกขาดมากที่สุด

ส่วนในมิติเชิงสถาบันนั้น อำนาจทำงานทั้งในรูปแบบทางการและไม่เป็นทางการ ในแง่ทางการนั้น อินเทอร์เน็ตในชั้นเนื้อหาถูกแทรกแซงโดยกระบวนการเชิงอำนาจมากที่สุด โดยเฉพาะในรูปการเซ็นเซอร์หรือบล็อคเว็บไซต์ โดยมีองค์กรควบคุมกำกับ 3 องค์กรหลัก คือ กระทรวงการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ตำรวจไซเบอร์ และกรมประชาสัมพันธ์ ขณะเดียวกัน ในมิติเชิงสถาบันนี้ มีกระบวนการ “ถ่วงดุล” อำนาจผ่านกระบวนการยุติธรรมด้วยเช่นกัน ผ่านศาลแพ่ง ศาลปกครอง และศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนอำนาจเชิงสถาบันแบบที่ไม่เป็นทางการนั้น ทำงานผ่านการใช้อิทธิพลกดดัน โดยแสดงตัวในชั้นให้บริการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเป็นส่วนใหญ่ อำนาจที่แฝงฝังอยู่ในโครงสร้างของระบบเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตไทยดังกล่าวนี้ แสดงตัวออกมาอย่างชัดเจนในช่วงเหตุการณ์การเคลื่อนไหวเพื่อขับไล่รัฐบาลทักษิณระหว่างปี 2548-2549

คำสำคัญ: เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต / อำนาจเชิงโครงสร้าง / เหตุการณ์ขับไล่รัฐบาลทักษิณ 2548-2549

[download เอกสารฉบับเต็ม (PDF: 17 หน้า A4) คลิ๊กที่นี่]

Leave a comment