เทคโนโลยีกับสังคม : ข้อเสนอกรอบแนวคิดข้ามสาขาวิชาและบททดลองวิเคราะห์ กรณีจีเอ็มโอ ประเทศไทย

หมายเหตุ : กำลังจะตีพิมพ์ในวารสารมหาวิทยาลัยศิลปากร

งานชิ้นนี้ เริ่มแรกเป็นรายงานปลายเทอมในชั้นเรียนปริญญาเอกของผม ในวิชา “ประชาธิปไตยกับการพัฒนา” สอนโดย รศ.ดร.ฉันทนา บรรพศิริโชติ แห่งภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ และ “นโยบายต่างประเทศของไทย” โดย อ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ แห่งภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ งานนี้เป็นความพยายามทดลองเขียนงานเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี กับสังคม ซึ่งผมสนใจมานานแล้ว และที่ต่างประเทศก็มีสาขานี้มานานมากแล้วเช่นกัน ภายใต้ชื่อว่า Science and Technology Studies (STS) หรือบางทีก็ใช้ว่า Science, Technology and Society (STS)

อันที่จริง เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีกับสังคมนั้น ในภาคปฏิบัติในการเคลื่อนไหวทางสังคมและเชิงนโยบายนั้น ในเมืองไทยก็มีอยู่แล้ว อย่างมูลนิธิชีววิถี หรือที่รู้จักกันในนาม BioThai (ซึ่งผมก็ได้อาศัยพึ่งพาข้อมูลสำหรับบทความนี้อยู่มาก) และมีนักคิดนักเคลื่อนไหวเด่นคนหนึ่งของสังคมไทยอยู่ที่นั่น คือ พี่วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ แต่ประเด็นทำนองนี้ ยังไม่เป็นที่ปรากฏอย่างชัดแจ้งในวงวิชาการและในมหาวิทยาลัย นอกจากงานเชิงปรัชญาวิทยาศาสตร์ เรื่อง “วิทยาศาสตร์ในสังคมและวัฒนธรรมไทย” ของ รศ.ดร.โสรัจจ์ หงศ์ลดารมย์ แห่งภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ และขณะนี้ เป็นผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการ ศูนย์จริยธรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

สรุปแล้ว งานชิ้นนี้จึงเป็นความพยายามอีกอันหนึ่งที่จะแนะนำสาขานี้มาสู่วงวิชาการไทย

บทคัดย่อ

ความเปลี่ยนแปลงและปัญหาใหม่ๆของโลก ทำให้เราค่อยๆมองเห็นว่าเทคโนโลยีกับสังคมไม่อาจเป็นเรื่องที่แยกขาดจากกันได้อีกต่อไป แต่มีปฏิสัมพันธ์กันไปมายิ่งขึ้นเรื่อยๆ  ในเชิงองค์ความรู้หรือสาขาวิชานั้น มีการกล่าวถึงเรื่อง “ข้ามสาขาวิชา” หรือ “สหสาขาวิชา” อยู่บ้าง แต่การปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอย่างเป็นกิจลักษณะยังค่อนข้างน้อย  บทความชิ้นนี้มุ่งเสนอกรอบแนวคิดทั่วไปกรอบหนึ่งในการอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างเทคโนโลยีกับสังคม โดยเริ่มจากแนวคิดพื้นฐาน 2 กลุ่ม ในวงวิชาการซึ่งสังคมไทยยังไม่ค่อยรู้จัก แต่มีในโลกตะวันตกมานานแล้ว เรียกว่า “วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีศึกษา” (science and technology studies) แนวคิดกลุ่มแรก คือ แนวคิดเรื่อง “เทคนิคส์” ประกอบด้วยเทคนิคส์แบบอำนาจนิยมกับแบบประชาธิปไตย  กลุ่มที่สอง คือ แนวคิด “เรื่องเล่าว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี” ซึ่งมีอยู่ 3 แนว ได้แก่ แนวนวัตกรรมทางเศรษฐกิจ, แนวการรังสรรค์ทางสังคม, และแนวความเหมาะสมทางวัฒนธรรม จากนั้น บทความนี้ได้นำแนวคิดทั้งสองกลุ่มมาสังเคราะห์เป็นกรอบคิดเชิงปฏิสัมพันธ์กันอย่างเป็นพลวัต ท่ามกลางบทบาทของตัวกระทำการ 3 ภาคส่วน คือ ภาครัฐ, ภาคธุรกิจเอกชน และภาคประชาสังคม  กรอบแนวคิดนี้จะทำให้เราเห็นว่าปัจจุบันแนวคิดแบบใด เทคนิคส์แบบใด และภาคส่วนใด กำลังแสดงบทบาทครอบงำทิศทางการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในสังคมอยู่ และจะเปลี่ยนทิศทางได้อย่างไร  สุดท้าย บทความนี้นำกรอบแนวคิดทั่วไปที่เสนอขึ้น มาทดลองวิเคราะห์กับกรณีศึกษาจริง โดยยกกรณีจีเอ็มโอในประเทศไทย ทั้งในแง่ความเปลี่ยนแปลงภายในประเทศ และในแง่นโยบายต่างประเทศมาใช้เป็นตัวอย่างบททดลองวิเคราะห์

>>> อ่านฉบับเต็ม [PDF : 31 หน้า A4]

Leave a comment